ไทยบิสป้าเดย์ชี้ช่องศูนย์บ่มเพาะและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย เผยแนวทางรัฐสนับสนุนให้เอสเอ็มอีใช้งานวิจัยมากขึ้น

อังคาร ๑๙ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๑:๔๒
ไทยบิสป้าเดย์ชี้ช่องศูนย์บ่มเพาะและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย เผยแนวทางรัฐสนับสนุนให้เอสเอ็มอีใช้งานวิจัยมากขึ้น เล็งดึงคนวิทยาศาสตร์เคลื่อนย้ายโดยเสรี ดันมหาวิทยาลัยภูมิภาคเป็นฐานการวิจัยท้องถิ่น ยันแนวโน้มศูนย์บ่มเพาะไปได้สวย ชี้หลายปัจจัยเข้ามาเอื้อ

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจะนำพาประเทศไทยให้นำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้นมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างต่ำและไม่เพียงพอ นักวิจัยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ขาดการเชื่อมโยงระหว่างภาคสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ การผลิตคนของไทยยังไม่ดีพอทำให้ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และตัวนักวิจัยเองขาดแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

โดยแนวทางการพัฒนาที่รัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมนั้นจะประกอบด้วย การเน้นให้เกิดการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ SMEs โดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการมอบทุนวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังจะพัฒนากิจกรรมการวิจัยและพัฒนา และทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น โดยสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างภาคสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม การกระตุ้นให้มีการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญและเร่งด่วนก็คือ ต้องส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งระหว่างประเทศ และภาครัฐและเอกชน (Talent Mobility) รวมถึงสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ และพัฒนามาตรการจูงใจรวมถึงบริการต่างๆ เช่น สร้างวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ มาตรการจูงใจทางภาษี

ในแนวทางการพัฒนาครั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ จะเป็นกลไกที่สำคัญในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสามารถอำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการก่อตั้งบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นพื้นฐานและมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ โดยผ่านกลไกของการบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ สามารถดึงดูดการลงทุนของบริษัทที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงชั้นนำจากทั่วโลก

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งสร้างคลัสเตอร์ที่มีพลังที่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด รวมถึงเข้ามาส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยวิจัยและบริษัท และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัท จาการร่วมมือทำวิจัย การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้านวิจัย และประโยชน์อื่นๆ จากการร่วมใช้พื้นที่ ที่สำคัญยังกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่จำเป็นต่อการสร้างความร่วมมืออย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังช่วยสร้างความเป็นหุ้นส่วน เช่น บริษัทอาจให้ทุนการศึกษา หรือจ้างงานนักศึกษานอกเวลาเรียน หรือจ้างอาจารย์เป็นที่ปรึกษา และสุดท้ายเป็นแหล่งสร้างงาน เป็นตลาดงานวิจัย

สำหรับแผนการขยายความเจริญออกสู่จังหวัดต่างๆ ยังสามารถใช้กลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยภูมิภาค ซึ่งมีทั้งองค์ความรู้ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ สามารถเป็นศูนย์กลางของการบริหารในเชิงการพัฒนาในภูมิภาค โดยจัดให้มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน และมีการพัฒนาในรูปแบบคลัสเตอร์ที่สำคัญและเหมาะสมต่อพื้นที่

จากข้อมูลในปี 2553 ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานในภาคเกษตรสูงถึงร้อยละ 40 แต่สามารถสร้างมูลค่าผลิตผลได้เพียงร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น ขณะที่ข้อมูลจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าภาระหนี้ของเกษตรกรไทยสูงขึ้นจาก 1.13 ล้านครัวเรือนในปี 2523 เป็น 4.26 ล้านครัวเรือนในปี 2550 เนื่องจากขาดความสามารถด้านเทคโนโลยี อาทิ การบริหารจัดการฟาร์ม การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การเกษตรอินทรีย์ และการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพียงร้อยละ 0.25 ของ GDP และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนร้อยละ 40 โดยประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม สรุปว่า ประเทศไทยยังขาดทั้งเทคโนโลยี ขาดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาและขาดนักวิจัย เมื่อเทียบกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมี GDP ใกล้เคียงกัน แต่มีสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงกว่าเกือบ 6 เท่า และมีบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาสูงกว่าเกือบ 2 เท่า

ในปี 2555 ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดย IMD (International Institute for Management Development) ในรายงานชื่อ The World Competitiveness Yearbook (WCY) ประจําปี 2555 แสดงให้เห็นว่า จากผลการสำรวจ 59 ประเทศ ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันโดยรวมเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2554 และลดลงเป็นอันดับที่ 30 ในปี 2555 โดยโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technological infrastructure) อยู่ในอันดับที่ต่ำมาก คืออันดับที่ 50 และโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific infrastructure) ก็อยู่ในอันดับที่ต่ำเช่นกัน คืออันดับที่ 40

ประเทศไทยยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านเทคโนโลยีมากกว่ารายรับ และมีแนวโน้มว่าส่วนต่างดังกล่าวจะมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยในปี 2554 พบว่า มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่เป็นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของคนไทย ที่เหลืออีกร้อยละ 94 เป็นสิทธิบัตรของต่างชาติ

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย หรือ Thai-BISPA เปิดเผยว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยได้มีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเกิดขึ้นหลายเรื่องหลายมิติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความสนใจอย่างจริงจังมากขึ้นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในภาคเอกชน ที่สำคัญคือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้งสามภาคได้ส่งข้อเสนอขอรับการสนับสนุน ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.), โครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) ได้จัดทำร่างแผนแม่บทเสร็จสิ้น, Amata Science City ได้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) และวางแผนธุรกิจ, อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยอยู่ในช่วงสุดท้ายของการก่อสร้างอาคารใหม่ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 120,000 ตารางเมตร

จากการที่สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสากลต่างๆ ในวงการ เช่น infoDev Incubator Support Center เครือข่าย Asia Pacific Incubation Network (APIN) ธนาคารโลก หน่วยงานของประเทศจีน หน่วยงานของประเทศเกาหลี ฯลฯ ในการฝึกอบรมระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้เริ่มจัดฝึกอบรมผู้บริหารและบุคลากรหน่วยบ่มเพาะธุรกิจอย่างจริงจังตามหลักสูตรของ infoDev (World Bank) โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวในการฝึกอบรม ทั้งระดับเบื้องต้น ระดับกลาง และระดับสูง การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจของไทยต่อไป

เรื่องที่น่าภาคภูมิใจในปี 2555 คือ ความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลระดับสากลกว่า 30 ราย เช่น บริษัท ไฮกริม เอ็นไวรอนเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช, บริษัท อินโนเวชั่น พลัส, บริษัท เซ็นเซอร์บิวเดอร์, บริษัท ไทย เด็นทอล อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท วี ไบโอ-เทค, และบริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี เป็นต้น ในปีนี้ทางสมาคมฯ จะทำทำเนียบผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทำเนียบผู้ประกอบการที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจจากหน่วยงานสมาชิกของสมาคม เพื่อเป็นคลังข้อมูลความรู้ให้แก่ประเทศต่อไป

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานได้ดำเนินการในหลายด้านเพื่อส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ได้จัดทำแผนนโยบายและมาตรการสนับสนุนอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม และเพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรมให้มีความร่วมมือที่ยั่งยืน มีการจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นผู้ดูแล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับ International Association of Science Parks (IASP) จัดประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ของภูมิภาคเอเซีย “IASP Asia 2012”

ในด้านภาคเอกชน ประเทศไทยเริ่มมีหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่จัดตั้งและดำเนินการโดยภาคเอกชนเกิดเพิ่มมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจกับผู้ประกอบการใหม่ และจัดฝึกอบรมให้กับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ บริษัทใหญ่ๆ ของไทยประกาศนำธงลงทุนทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างทุ่มเท

แนวโน้มความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เป็นโอกาสทองของอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากสถานการณ์ โดยปรับกลยุทธ์ให้ชัดเจนและแหลมคม พัฒนาบุคลากรให้ทันต่อโลกธุรกิจ ขยายเครือข่ายพันธมิตร เร่งดำเนินการด้านการตลาด และสร้างความร่วมมือกับคู่ธุรกิจที่จำเป็น เพื่อก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จ ซึ่งในด้านต่างๆ เหล่านี้ สมาคม Thai-BISPA พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกด้วยบริการที่กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

คุณเอริน ภูริคัมภีร์

โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 5300, 0 2564 7701

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๐๐ รำไพพรรณีจับมือโรงเรียนในจันทบุรี พัฒนาทักษะภาษา สู่ความเป็นเลิศ
๐๙:๐๐ DITP แถลงข่าวตอกย้ำความสำเร็จ E-Academy ภายใต้แนวคิด Beyond Boundaries Transform Knowledge into Impact
๐๙:๐๐ เปิดให้จองแล้ว Samsung Galaxy S25 Series ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย
๐๙:๐๐ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานเสวนา โปรตุเกส.เหตุที่รั
๐๙:๐๐ การเคหะแห่งชาติจับมือ 3 หน่วยงาน พัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะชาวชุมชนหวังสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
๐๙:๐๐ ก้อย-นัตตี้-ดรีม ชีเสิร์ฟความฮอตแบบไม่พัก รับบทพรีเซ็นเตอร์ชุดชั้นในวาโก้ โชว์ความเนียนยืนหนึ่งระดับตัวมัม!
๐๙:๐๐ เจาะลึกคีย์เทคโนโลยี AI ฝีมือคนไทย บนแอปสินเชื่อ มันนี่ทันเดอร์ พลังขับเคลื่อนสำคัญที่ อบาคัส ดิจิทัล
๐๘:๑๓ เปิดความปัง มั่งมีรับปีใหม่ กับ แมคโดนัลด์ 'มั่งมีเบอร์เกอร์ x MY MELODY' ยกขบวนความน่ารัก MY MELODY กับแพ็กเกจจิงและ กระเป๋า Tote Bag
๐๘:๑๑ ถอดรหัสความสำเร็จ Fundao แบรนด์กระเป๋าไทยของผู้หญิงยุคใหม่ กับสถิติยอดขายช่วงแคมเปญเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง
๐๘:๐๐ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!