เนื่องจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศขนาดใหญ่จำเป็นต้องดำเนินการให้มีความเชื่อมโยงกันและต้องดำเนินการติดต่อกันหลายปีจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ โดยต้องมี แหล่งเงินในการดำเนินโครงการอย่างแน่นอนสอดคล้องกับระยะเวลาของโครงการ และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจของภาคเอกชนที่จะเข้าถึงข้อมูลการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่ชัดเจนและมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนสามารถเตรียมพร้อมและจัดทำแผนการลงทุนของตนเองควบคู่ไปกับแนวทางการลงทุนของรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม รัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อออกพระราชบัญญัติสำหรับรองรับการจัดหาแหล่งเงิน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว
ดังนั้น ในวันนี้ (19 มีนาคม 2556) คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... โดยร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำมาลงทุนในโครงการต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชี ท้ายพระราชบัญญัติฯ ในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยการดำเนินโครงการภายใต้เงินกู้นี้ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการดำเนินการซึ่งแสดงยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนและแน่นอน มีกรอบแนวทางและขั้นตอนในการบริหารและดำเนินโครงการที่แสดงความรับผิดชอบและหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการระดมเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการอย่างมีวินัยภายใต้ระยะเวลาประมาณ 7 ปี รวมทั้งมีการกำกับ ตรวจสอบ และประเมินผลที่เข้มงวด โดยจะต้องรายงานให้รัฐสภาทราบเป็นประจำทุกปี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะช่วยให้รัฐบาลสามารถวางแผนในการหาแหล่งเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนในการวางแผนการลงทุนของตนเอง และในการดำเนินโครงการจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องเสนอโครงการต่อกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับความพร้อม กรอบวงเงินดำเนินการ และแผนการดำเนินงานก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ และอนุมัติจัดสรรวงเงินกู้ รวมทั้งการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนเริ่มโครงการ และภายใน 120 วันหลังสิ้นปีงบประมาณ คณะรัฐมนตรีจะต้องรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในปีงบประมาณที่ผ่านมาให้รัฐสภาทราบด้วย
สำหรับผลประโยชน์จากการลงทุนในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมัน และลดระยะเวลาการเดินทางและการขนส่งแล้ว กระทรวงการคลังคาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) เพิ่มสูงขึ้นจากกรณีฐาน เฉลี่ยในช่วงปี 2556 — 2563 ร้อยละ 1.0 ต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนตำแหน่ง โดยในช่วงแรกของ การดำเนินโครงการอาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าสินค้าทุนและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและการนำเข้าพลังงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก ดุลบัญชีเดินสะพัด และลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ สำหรับในส่วนของความมั่นคงทางการคลังนั้น กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวเสริมว่าในส่วนของแผนงาน / โครงการที่จะดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า ทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ ในปัจจุบันให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักของประเทศ แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง และแผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญของประเทศ (2) ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าชายแดน แผนงานพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค และ (3) ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว ซึ่งประกอบด้วยแผนงานพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง และแผนงานพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภายในประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ภายในเดือนมีนาคม 2556 โดยจะมีรายละเอียดโครงการภายใต้แผนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศประกอบการพิจารณาของรัฐสภาด้วย ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ก่อนปีงบประมาณ 2557”
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3308