ด้านนายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งบุคลากรการแพทย์ที่มีศักยภาพ และมีวิศวกรที่สามารถผลิตหุ่นยนต์ได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก ดังนั้นจึงเอาทั้ง 2 ส่วน มาต่อยอดในโลกของการแข่งขัน โดยในระยะแรกจะร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยด้านหุ่นยนต์และภาคเอกชนผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุด้วยระบบแจ้งเตือนทางเครื่องมือสื่อสาร ที่สามารถติดต่อกับญาติและผู้ดูแลได้ทันทีหากเกิดอุบัติเหตุหรือความผิดปกติต่อผู้สูงอายุ คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี ในการดำเนินการ
สำหรับการผลิตหุ่นยนต์ช่วยเหลือแพทย์ในการผ่าตัดและตรวจวินิจฉัยโรคนั้น นายนเรศ กล่าวว่า เป็นโครงการในระยะต่อไป โดย TCELS ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกันวิจัยและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความเป็นเมดิคัลฮับของไทยในสายตาของชาวต่างชาติด้วย
ทั้งนี้จากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากถึง ร้อยละ 12.59 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยสิงคโปร์อยู่ที่ ร้อยละ 12.25 เวียดนาม ร้อยละ 8.53 ดังนั้นเมื่อสามารถพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูงแล้วเสร็จ นอกจากจะช่วยเหลือผู้สูงอายุในประเทศแล้ว ยังสามารถบริการผู้สูงอายุต่างชาติที่มาใช้บริการเมดิคัลฮับประเทศไทยได้ เป็นการเสริมจุดแข็งให้โครงการเมดิคัลฮับอีกทางหนึ่งด้วย
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499