3 องค์กร ผนึกกำลัง สร้างแฟรนไชส์ยุคใหม่

พุธ ๒๐ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๔:๐๙
สมาคมแฟรนไชส์ไทย ร่วมกับ ซีพี ออลล์ และธนาคารกสิกรไทย ผนึกกำลังครั้งใหญ่ มุ่งส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยุคใหม่ รองรับไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เปิดหลักสูตรให้ความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมงให้กับผู้ที่สนใจ สร้างธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ชนิดเข้มข้น ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยรายใหม่อีก 5-7 %

น.ส.สมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย และบรรณาธิการ นิตยสาร ฟรี อีแมกกาซีนโอกาสธุรกิจ กล่าวถึงการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยุคใหม่ว่า “สมาคมแฟรนไชส์ไทยมีบทบาทในการส่งเสริม ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ ในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยการเติบโตของแฟรนไชส์ไทยในภาพรวม มีการเติบโตที่ต่อเนื่องประมาณ 15-20% ในแต่ละปี ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของแฟรนไชซี่ ในขณะที่กลุ่มผู้ขายแฟรนไชส์รายใหม่ยังเกิดขึ้นไม่สูงนัก ซึ่งส่วนหนึ่งมีข้อจำกัดในด้านการขาดความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ ดังนั้นสมาคมแฟรนไชส์ไทยจึงจะจัดโครงการอบรมสร้างระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมงเป็นหลักสูตรเข้มข้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการสร้างระบบแฟรนไชส์ให้แก่เจ้าของกิจการที่ต้องการขยายธุรกิจ หรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องแฟรนไชส์ โดยผนึกกำลังกันกับคณะกรรมการสมาคมแฟรนไชส์ไทยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งบริหารการจัดสัมมนาโดย นิตยสารฟรี อี แมกกาซีนโอกาสธุรกิจ และบริษัทแฟรนไชส์โฟกัส เพื่อสร้างสรรค์โครงการที่เปิดกว้างให้ความรู้เรื่องการสร้างระบบ แฟรนไชส์”

การอบรมการสร้างระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมงครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 3 โดยสมาคมแฟรนไชส์ไทย ซึ่งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาได้จัดไปเมื่อเดือนตุลาคม 2555 จากผลสำรวจผู้เข้าอบรม 62 คน พบว่า 98% มีความเห็นว่าเป็นการอบรมที่ดี และ 87% มีความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมอีกในกิจกรรมต่อไป ทำให้ทางสมาคมแฟรนไชส์ได้จัดการอบรมสร้างระบบ แฟรนไชส์ 20 ชั่วโมง ต่อเนื่องประจำปี 2556 ขึ้นอีกครั้ง ตลอดเดือนพฤษภาคม (ดังนี้รายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาด้วย)

ซึ่งหลักสูตรประกอบด้วย ขั้นตอนการสร้างระบบแฟรนไชส์, เรื่องระบบมาตรฐาน, การจัดทำคู่มือ,ระบบการอบรม,การสร้างร้านต้นแบบ,การสร้างแบรนด์,สัญญาแฟรนไชส์ และการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง เป็นต้น

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้ เพราะการได้รับการสนับสนุนจากซีพี ออลล์และธนาคารกสิกรไทย ด้าน น.ส.อนิษฐา ธนมิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวถึงความร่วมมือเพื่อผนึกกำลังสร้างแฟรนไชส์ยุคใหม่ ว่า ซีพี ออลล์มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกับสมาคมแฟรนไชส์ไทยและธนาคารกสิกรไทย จัดอบรมหลักสูตร "สร้างระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมง" เพื่อให้ความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจในการทำธุรกิจแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีระบบมาตรฐานสากลและเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีผู้สนใจจะเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุน อาทิ สถานที่อบรมโดยจัดขึ้นที่ อาคารซีพี ทาวเวอร์ สีลม วิทยากรที่มีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ รวมไปถึงการบริหารจัดการสินค้าและบริการ การบริหารการตลาด การบริหารเงินทุน โลจิสติกส์ สต็อกสินค้า การบริหารบุคคล การบริหารการเปลี่ยนแปลงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจแฟรนไชส์

พร้อมทั้งเยี่ยมชมกิจการของบริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารประเภทติ่มซำ, อาหารกล่องพร้อมรับประทาน, เบเกอร์รี่ต่างๆ ซึ่งได้มาตรฐานสากล ในกลุ่มซีพี ออลล์ อีกด้วย “ปัจจุบันร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มีจำนวนร้าน แฟรนไชส์ 3,923 สาขาทั่วประเทศ สัดส่วนร้านแฟรนไชส์คิดเป็น 56 % โดยในปี 2556 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของร้านแฟรนไชส์เป็น 58 % สำหรับการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ซีพี ออลล์ได้พัฒนาระบบงานและทีมงานที่มีคุณภาพ ให้ความรู้และทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ” น.ส.อนิษฐา กล่าว

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศให้ก้าวหน้า และให้การสนับสนุนอย่างจริงจังโดย “ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้เข้ามามีส่วนช่วยในการสนับสนุนและผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2553 โดยการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ K-SME Franchise Credit ซึ่งเป็นการให้วงเงินแก่ผู้รับสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ที่เลือกธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์ (Franchisors ) ซึ่งผ่านเกณฑ์ของธนาคารจำนวน 65 แฟรนไชส์ โดยปัจจุบันมีผู้รับสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ที่ได้รับการสนับสนุนวงเงินไปแล้วกว่า 522 ล้านบาท ทั้งนี้ แฟรนไชส์เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างธุรกิจของตนเองให้เติบโตได้อย่างเร็วขึ้น และเป็นธุรกิจที่โตอย่างมีระบบ ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้อย่างมาก

สำหรับความร่วมมือ ในโครงการ อบรมระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมง ที่ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมมือกับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมแฟรนไชส์ไทย และ บมจ.ซีพี ออลล์ ในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ในการสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ไทย เพราะจะร่วมมือกันผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจโดยใช้ระบบแฟรนไชส์เข้ามาบริหารจัดการ ทำให้เกิดแฟรนไชส์ซอร์หน้าใหม่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

โดยธนาคารกสิกรไทยจะให้ความสนับสนุนด้านผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์ที่ผ่านการอบรมจะสามารถเข้ามาอยู่ในระบบรายชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์ของธนาคาร ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์ มีโอกาสในการขยายธุรกิจได้เร็วขึ้นอีกด้วย

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการคาดการแนวโน้มตลาดแฟรนไชส์ในประเทศว่า ภายหลังการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 จะมีตลาดแฟรนไชส์ต่างชาติที่สนใจและเตรียมจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานลงทุนระบบแฟรนไชส์เพื่อขยายในตลาดอาเซียน โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น จากทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีปัจจัยที่สนับสนุนจากทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างมาตรฐานให้ระบบแฟรนไชส์ในประเทศให้สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของธุรกิจตัวเองเข้าสู่มาตรฐานเท่าเทียมในระดับสากล และสามารถแข่งขันทั้งตลาดภายในและขยายออกไปนอกประเทศมากขึ้น ตลาดแฟรนไชส์ในปี 2555 มาถึงปี 2556 พบว่าแฟรนไชส์ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.38 แสนล้านบาท โดยมี Franchisors (ผู้ให้สิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ) จำนวนประมาณ 330 ราย และ Franchisee (ผู้รับสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ) จำนวน 63,000 สาขา โดยธุรกิจ Franchisors ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศไทย ในตอนนี้ ได้แก่ 1. ธุรกิจร้านอาหาร (28%) 2. ธุรกิจร้านเครื่องดื่ม-เบอร์เกอรี่ (15 % ) และ3. ธุรกิจบริการ (12% ) เนื่องจากธุรกิจทั้ง 3 ประเภทนี้ เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนไม่สูงมากนัก และมีระบบบการจัดการที่ไม่ซับซ้อน ทำให้เป็นที่นิยมสำหรับผู้สนใจทำธุรกิจ

สมาคมแฟรนไชส์ไทย มีความมั่นใจว่า แนวโน้มแฟรนไชส์ยุคใหม่ หลังปี 2556 เป็นต้นไป น่าจะมีแนวโน้มที่สดใสยิ่ง หากมีแนวทางสนับสนุน ที่เกิดขึ้นดังนี้

1.ให้ความรู้อย่างไม่จำกัด โดยมีความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ,เอกชน,สถาบันการเงิน และสมาคม แฟรนไชส์ไทยขยายความร่วมมือเพื่อเปิดกว้างในการให้ความรู้ที่จำเป็น สำหรับการสร้างระบบแฟรนไชส์ และการเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงเทคนิคในการบริหารร้านให้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

2.รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งทำโดยสมาคมแฟรนไชส์ไทย เช่น ด้านการจัดทำคู่มือ การสร้างแบรนด์ การสร้างระบบมาตรฐาน ออกแบบร้านต้นแบบ เป็นต้น เพื่อจัดทำโครงการพี่เลี้ยง หรือเข้าร่วมเป็นทีมที่ปรึกษา ฝึกสอนเจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการ ที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำแฟรนไชส์ โดยการสนับสนุนของภาครัฐ หรือสถาบันการเงิน

3.นโยบายการสนับสนุนที่ชัดเจนและต่อเนื่อง โดยการวางเป้าหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีการตั้งตัวเลขที่ชัดเจน ในการส่งเสริมทั้งระยะสั้นและในระยะยาว เช่น ใน 5 ปีข้างหน้า จะมีแฟรนไชส์ใหม่ 50 กิจการ เป็นต้น หรือใน 10 ปี จะมีแฟรนไชส์ไทยส่งออก 100 บริษัท เป็นต้น

4.ให้รางวัลส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ดีเด่น เพื่อกระตุ้นการพัฒนาระบบแฟรนไชส์ให้ดีขึ้น ซึ่งกิจกรรมด้านนี้ก็มีอยู่แล้ว แต่อาจจะปรับปรุงให้ดีขึ้นและทำไปพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ

5.สนับสนุนการสร้างแบรนด์ สินค้าไทยส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์ในการโฆษณาทีวี สินค้าที่โฆษณาในทีวีไทยที่เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุดในการสร้างความนิยมสินค้า-บริการนั้น มีแต่สินค้าแบรนด์ต่างชาติมากกว่า 80-90% เพราะราคาโฆษณาสูง นาทีเฉลี่ยประมาณ 50,000-300,000 บาท เป็นราคาที่กิจการคนไทยไม่สามารถจ่ายได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์ให้ธุรกิจที่ได้รางวัลต่างๆ ที่รัฐบาลส่งเสริมนั้น ควรได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสได้ใช้สื่อสาธารณะและสื่อของรัฐที่ต่อเนื่องระยะหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้า ให้เกิดความนิยมในตลาด อย่างได้ผล

6.กองทุนพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพในการเติบโตนั้น หากมีกองทุนที่ส่งเสริมการสร้างแฟรนไชส์นั้น จะมีรายได้ส่วนหนึ่งที่มาจากค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์กลับคืนมา หากมีกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นจะเป็นแนวทางที่ดีมาก ในการสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

การผนึกกำลัง สร้างแฟรนไชส์ยุคใหม่ ครั้งนี้ เป็นการรวมความรู้จากองค์กรที่มีศักยภาพ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่ง ให้กับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ รวมไปถึงผู้ที่ต้องการความรู้เพื่อนำไปใช้ในอนาคตด้วย ผลของการจัดกิจกรรมนี้ มั่นใจได้ว่า จะมีธุรกิจที่ดีๆของประเทศ ได้รับการส่งเสริม และสามารถขยายธุรกิจ ได้ด้วยระบบแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตลาดอาเซียนที่กำลังจะมาถึงนี้ แฟรนไชส์จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขยายสินค้าและบริการไปสู่ตลาดการค้านี้ได้ สมาคมแฟรนไชส์ไทย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย, นิตยสาร ฟรี อีแมกกาซีนโอกาสธุรกิจ และบริษัทแฟรนไชส์โฟกัส จึงภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีบทบาทในการสร้างการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยของเรา และคาดว่าจะมีการขยายความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นอีก ในโอกาสต่อไป

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมสร้างระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่ สมาคมแฟรนไชส์ไทย 02-321-7701-4 e-mail: [email protected] หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.franchisefocus.com, หรือ www.opbizmag.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ