วันนี้ (22 มีนาคม 2556) นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ร่วมลงนามในโครงการความร่วมมืออนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เพื่อร่วมอนุรักษ์โลมาหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ให้คงอยู่ตลอดไป
ปตท.สผ. บริษัทผู้ดำเนินการแสวงหาปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศควบคู่กับการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมีจิตสำนึกได้ตระหนักถึงความสำคัญของโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาว่าเป็นสัตว์ที่หายาก ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 30 ตัวเท่านั้น และยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในทะเลสาบสงขลาที่เสื่อมโทรมลง จึงได้ร่วมลงนามในโครงการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อการศึกษาวิจัยสถานภาพ การเคลื่อนที่ พฤติกรรม และภัยคุกคามของโลมาอิรวดีที่บูรณาการองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยและภูมิปัญญาชุมชน รวมถึงการให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก และความเข้มแข็งของชุมชน ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง โดยจะดำเนินโครงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีร่วมกันเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2558 คาดว่าผลการดำเนินการจะช่วยให้โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาสามารถดำเนินชีวิตได้ภายใต้แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ปราศจากภัยคุกคามที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และส่งเสริมให้เครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลามีความเข้มแข็งในบทบาท และสามารถดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์โลมาอิรวดีได้อีกด้วย
นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “ทะเลสาบสงขลารวมถึงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากการขยายตัวของชุนชนอย่างหนาแน่น ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารตามธรรมชาติของโลมาอิรวดี การร่วมมือกันในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการร่วมกันศึกษาด้านต่างๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ตลอดจนสนับสนุน ส่งเสริม และปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ไปจากระบบนิเวศทางธรรมชาติ”
นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า “โครงการความร่วมมือฯของทั้ง 3 หน่วยงาน ในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อทะเลสาบสงขลา นอกจากจะได้รับองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยและภูมิปัญญาของชุมชนในทะเลสาบสงขลาแล้ว ยังสามารถให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ครู นักเรียน และ ชุมชนบริเวณโดยรอบให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปลาโลมา รวมถึงท้องทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของตนเองอีกด้วย”
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า “ปตท.สผ. มีความยินดีและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัตว์น้ำจืดที่เหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งเราควรให้การดูแลและคุ้มครองเพื่อให้คงอยู่ในประเทศไทยตลอดไป นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้อนุรักษ์และสนับสนุนกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนโครงการมรดกไทยมรดกโลก การสนับสนุนงานวิจัยเสือโคร่ง งานวิจัยเพื่ออนุรักษ์นกเงือก กิจกรรมปลูกปะการังเทียม การสร้างแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ท้องทะเล รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อให้พนักงาน ปตท.สผ. มีส่วนในการเป็นอาสาสมัครเพื่อการอนุรักษ์อีกด้วย การส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นเจตนารมณ์ของการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ ที่บริษัทใช้ในการกำกับดูแลกิจการมาโดยตลอด”
โลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดในโลกมีเพียง 5 แห่ง คือ แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า แม่น้ำโขงในส่วนที่เป็นของประเทศลาวและกัมพูชา แม่น้ำมะหะขามประเทศอินโดนีเซีย ทะเลสาบซิลิก้า ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลาในประเทศไทย โดยในประเทศไทยโลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และในที่ประชุม CITES ปี 2546 ไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับการคุ้มครองในระดับนานาชาติ จัดเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ควรอนุรักษ์ 1 ใน 20 ของปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อีกด้วย