คปก.ปัดฝุ่นร่างกม.หลักประกันธุรกิจ เพิ่มหลักประกันกิจการ - สังหาฯ ธปท.-นักวิชาการหนุน เพิ่มความเชื่อมั่นแบงก์ปล่อยกู้

ศุกร์ ๒๒ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๖:๑๕
22 มีนาคม 2556 — คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัลพาร์ค จังหวัดพิษณุโลก

ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ เปิดเผยว่า ระบบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีเพียง 3 ประการ คือ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง หลักประกันอย่างอื่นนั้นเป็นเพียงความพยายามของนักกฎหมายที่จะต้องดัดแปลงข้อกฎหมายเพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก หรือรายย่อย มีต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ต่ำลง สามารถทำการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักประกันในรูปแบบที่ 4 ขึ้น กล่าวคือ ให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าคงคลัง มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับหลักประกันยึดถือไว้ดังเช่นการจำนำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งทำให้เจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถใช้สอยสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

“นอกจากนี้ได้เปิดให้ผู้ประกอบกิจการสามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กิจการร้านขายอาหาร ในเชิงนโยบาย ร่างฯ ฉบับนี้ มีผู้เห็นด้วยหลายภาคส่วน ทั้งวงการธนาคาร ภาคธุรกิจต่าง ภาคการเมือง รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้นำร่างฯ ออกรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 และเป็นครั้งแรกที่ทำการออกรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นอย่างดี” ศ.ดร.กำชัย กล่าว

แบงก์ชาติหนุนคปก.ออกกม.เพิ่มความเชื่อมั่นแบงก์ปล่อยกู้

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ที่ปรึกษาผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการเงินมีการปล่อยกู้ที่ไม่มีหลักประกันเพียง 0.71 % เท่านั้น จากการปล่อยกู้โดยรวม 13 ล้านล้านบาท ทั้งนี้สถาบันการเงินจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งแก่นแท้ของพระราชบัญญัตินี้คือการให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อโดยมีหลักประกัน ซึ่งปัจจุบันมี 14 ประเภท ได้แก่ 1. เงินฝาก พันธบัตร 2. อาคาร 3. เครื่องจักร 4. ใบหุ้น 5. ทะเบียนรถ 6. สิทธิการเช่า 7. หนังสือค้ำประกัน 8. ที่ดิน 9. เรือ 10. ตั๋วสัญญาใช้เงิน 11. บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล 12. สินค้า 13. สิทธิการเงิน 14. Standby Letter of Credit

นายวีระชาติ กล่าวว่า ธปท. ต้องการให้มีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้บังคับ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลยที่เศรษฐกิจในประเทศที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการรองรับให้มีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทั้งหลายมาเป็นหลักประกัน ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ อาทิ เพิ่มความมั่นใจแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อ เสมือนเป็นช่องทางที่เป็นลายลักษณ์อักษร ให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อได้ รวมทั้ง ตามมาตรา 8 จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้มีหลายประเภท และยังเปิดช่องให้มีการออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

นายวีระชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังคือ1. กรณีที่ยังไม่ได้มีการระบุอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ 2. หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของร่างฯ นี้ คือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง แต่ไม่มี ธปท. และ 3. ธปท. อาจจะต้องออกหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลอย่างจริงจังหากมีการตราพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อกำกับควบคุมสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามเห็นว่าร่างฯ นี้มีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย และ ธปท.ขอสนับสนุนร่างฯ ฉบับนี้ด้วย

แนะออกใบอนุญาตผู้บังคับหลักประกัน ยันต้องเป็นกลาง

นายมนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า เป้าหมายของร่างฯ ฉบับนี้ คือการให้นำทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์และกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกัน โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวนั้น เพื่อให้ลูกหนี้สามารถใช้สอยทรัพย์สินนั้นเพื่อหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้หลักประกันหรือลูกหนี้นั้นจะต้องใช้หลักประกันให้เหมาะกับสภาพของทรัพย์สินนั้นด้วย

นายมนตรี กล่าวว่า มีข้อสังเกตอยู่หลายประเด็นคือ 1.ประเภทของหลักประกันที่นำมาเป็นหลักประกัน คำว่ากิจการนั้นอาจรวมถึงทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ด้วย ในกรณีที่มีการแยกชนิดออกมาเป็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างมาตรา 8 การบังคับหลักประกันตามกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างเร็ว ดังนั้นสิ่งที่จะควบคู่กันไปคือประเด็นเรื่องผู้บริโภคด้วย อาจจะต้องมีบัญชีเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกด้วย

“2.ระบบทะเบียน เป็นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างชัดเจน โดยจะไม่ใช่ทะเบียนทางราชการ เดิมใช้คำว่า จดแจ้ง (Filling)ซึ่งจะแตกต่างจากระบบการจดทะเบียนในปัจจุบัน โดยไม่ใช่ระบบที่รัฐเข้าไปรับรองความถูกต้อง แต่ผู้ที่มาแจ้งเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูล เมื่อมีการใช้ระบบดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อมีการปล่อยเงินกู้จะมีการเช็คทะเบียนจดแจ้งนี้เสมอ ทั้งนี้ โดยสภาพแล้วระบบนี้จะไม่ใช่ระบบกระดาษแต่เป็นระบบอิเล็กทรอนิคส์ 3.การยึดโยงกับระบบจำนำ เมื่อมีการนำหลักประกันไปจำนำต่อนั้น จำนำจะตกเป็นโมฆะทันที ซึ่งโดยหลักการแล้วร่างฯ นี้ไม่ได้ทับกับกฎหมายจำนำ แต่เมื่อมีการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันไปจำนำ แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากหากนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วก็แสดงว่าต้องการที่จะใช้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นอยู่ อย่างไรก็ตามก็ยังเห็นว่าระบบจำนำนั้นยังควรมีอยู่ แต่หากมีการจำนำแล้วใครมีสิทธิเหนือกว่าก็เป็นประเด็นที่จะต้องทำการพิจารณาต่อไป”

นายมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ผู้บังคับหลักประกัน ต้องได้รับใบอนุญาตและต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอยู่ แต่ผู้บังคับหลักประกันนั้นตามร่างฯ ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักประกันที่ผู้บังคับหลักประกันจะต้องทำการวางหลักประกันไว้ด้วย ขณะเดียวกันผู้บังคับหลักประกันในอนาคตจะเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องจากสถาบันการเงินแต่ไม่มีข้อจำกัด ต้องไม่ลืมว่าอำนาจการต่อรองสัญญานั้นผู้รับหลักประกันนั้นมีอำนาจต่อรองมากกว่า อาจมีประเด็นเรื่องความเป็นกลางและเป็นอิสระซึ่งเป็นเพียงลักษณะในการคัดค้านผู้บังคับหลักประกันเท่านั้น ควรที่จะกำหนดไว้ตั้งแต่แรกว่าผู้บังคับหลักประกันเป็นกลางและเป็นอิสระ ด้วย

รศ.ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนี้ที่จะมีการนำมาเป็นหลักประกันตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยหลักจะเป็นหนี้การค้า ซึ่งโดยหลักแล้วจะเป็นการแก้ไขข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบันของกฎหมายว่าด้วยหลักประกัน ซึ่งมีอยู่เพียง 3 รูปแบบ คือ การค้ำประกัน จำนำ และจำนอง ซึ่งการค้ำประกันนั้นเป็นการค้ำประกันด้วยบุคคล ในส่วนของการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน คือ การจำนำ และการจำนองนั้น ข้อจำกัดก็คือ การจำนองนั้นสามารถนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันได้เฉพาะทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ หรือทรัพย์สินที่มีกฎหมายบัญญัติให้สามารถนำมาจำนำได้โดยเฉพาะ

“แนวคิดของหลักประกันทางธุรกิจ เป็นการประสานประโยชน์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่มีประกัน มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทำให้ลูกหนี้นั้นได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ”รศ.ไพฑูรย์ กล่าว

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ