ภายในงาน ประกอบด้วยการโชว์กลองยาว การแห่ของขบวนช้างและการแสดงรำมวยไทยของนักเรียน โดยในครั้งนี้ ยังมีพระครูเกษมจันทวิมล (อาจารย์แดง) เกจิอาจารย์ดังจากวัดป้อมรามัญ ได้ทำพิธีปลุกเสกสายมงคลรัดแขน เพื่อมอบให้แก่นักมวยทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่เข้าร่วมงานเป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประกวดไหว้ครูมวยไทยในช่วงบ่าย
ในช่วงค่ำ ได้จัดให้มีพิธีครอบครูไหว้มวยไทย ตลอดจนงานเลี้ยงต้อนรับนักมวย ณ วัดมหาธาตุ นอกจากนี้ในวันที่ 18- 20 มีนาคม ณ บริเวณอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ภายในสนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังจัดให้มีการแข่งขันชกมวยไทยชิงเข็มขัดนายขนมต้ม นิทรรศการนายขนมต้ม การแข่งขันเซปักตะกร้อ และเปตอง ตลอดจนมหรสพสมโภช โดยความร่วมมือของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา และสมาคมสถาบันการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย
สำหรับ นายขนมต้ม เป็นนักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา เกิดที่ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรนายเกิด และนางอี่ มีพี่สาวชื่อนางเอื้อย ทั้งพ่อแม่และพี่ถูกพม่าฆ่าตายหมด และต้องไปอยู่วัดตั้งแต่เล็ก นายขนมต้มถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลย ในระหว่างเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 นายขนมต้ม มีชื่อเสียง ในเชิงมวยเป็นที่เลื่องลือ ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงว่า เมื่อพระเจ้าอังวะโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากอง ในเมืองร่างกุ้ง เป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้ บนยอดเป็นปฐมฤกษ์แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” พระเจ้าอังวะ จึงตรัสสั่งให้ เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า มาถวาย พระเจ้าอังวะ ได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบมวยกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกชนะพม่าไม่ทันถึงยก พม่าก็แพ้ถึงเก้าคน สิบคน พระเจ้าอังวะทอดพระเนตร ยกพระหัตถ์ตบพระอุระ ตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึง เก้าคนสิบคน” พระเจ้าอังวะ จึงพระราชทานรางวัลเป็นการให้อิสรภาพ แก่นายขนมต้ม และให้เดินทางกลับพระนครศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติ