ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช.) ได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเริ่มทดลองการแพร่ภาพในกรกฎาคม และจะเริ่มเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลได้ภายในเดือน มีนาคมนี้ และอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีการยุติการส่งสัญญาณในระบบอะนาล็อกส่งผลให้ประเทศไทยนั้นเข้าสู่ยุคดิจิทัลของวงการโทรทัศน์เมืองไทยอย่างเป็นทางการซึ่งทางสถาบัน ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำระบบทีวีดิจิทัลมาใช้เป็นอย่างมาก เพราะนั่นจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการพัฒนาในด้านต่างๆของประเทศจะมีแนวโน้มสู่การพัฒนาในทิศทางที่ดีและยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านการศึกษาของไทย
ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางสถาบันก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของกาพัฒนาการศึกษาเพื่อให้สอดรับกับการก้าวสู่ยุค แห่งดิจิทัลทีวี ด้วยการคิดค้นและสร้างสถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 เพื่อนำร่องทดลองใช้พัฒนาระบบการศึกษาของสถาบันโดยในขั้นเริ่มต้น สถาบัน จะมี 2 ช่องที่จะทำการออกอากาศ จากทั้งหมด 5 ช่อง ซึ่ง 2 ช่องนี้ จะแบ่งเป็นช่องที่มีเนื้อหารายการเกี่ยวกับการเรียนการสอนทั้งหมด โดยจะแบ่งเป็นรายการที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อที่นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ สามารถใช้ช่องทางนี้ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ โดยมีทั้งข้อมูล สูตร สมการ สื่อเสริมสร้างทักษะ สำหรับอีกช่องหนึ่งนั้น คือ KMITL Channel รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมด จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของสถาบันทั้งหมด อาทิ กิจกรรมของนักศึกษา งานต่างๆของสถาบัน เป็นต้น อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายในการเผยแพร่ ระบบดิจิทัลทีวีนี้เผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เขตแวดล้อมที่ตั้งของสถาบันอาทิ เขตลาดกระบัง หนองจอก ประเวศ บึงกุ่มฯลฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลทางวิชาการอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน
ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล กล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่จะสามารถพัฒนาการศึกษาไทยเป็นผู้นำด้านการศึกษาในอาเซียนได้อย่างสูงสุดนั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษาของไทย จึงอยากให้ทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับอุดมศึกษา ได้ร่วมมือกัน สร้างสรรค์“Thailand University Channel” ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาเพื่อรองรับการเป็นรายการโทรทัศน์ด้านการศึกษาชั้นนำแห่งอาเซียน โดยนำเอาเอกลักษณ์หรือจุดแข็งของแต่ละที่มาใช้ในการสร้างช่องรายการนี้ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งอาจมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนในเรื่องของการผลิตเนื้อหาสำหรับรายการ อาทิ สถาบันใดมีความเชี่ยวชาญ วิชาการด้านเกษตร ด้านแพทยศาสตร์ ด้านศิลปกรรม ด้านการบริหาร ฯลฯ ซึ่งถ้ามีช่องทางใดมีการรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้มาเผยแพร่ เป็นรายการต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ก็จะทำให้ประเทศไทย มีช่องทีวีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ ครบทั้งข้อมูลและอรรถรสในการรับชม ตลอด 24 ทั่วโชง ซึ่งเชื่อว่า ทุกสถาบันการศึกษาของประเทศไทยมีบุคคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในตัวเอง และสามารถดึงความเชี่ยวชาญเหล่านั้นออกมาพัฒนาการศึกษาให้กับประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม พระจอมเกล้าลาดกระบัง มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสถาบันให้เป็นสถาบัน 1 ใน 10 ของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าแห่งประชาคมอาเซียนในปี 2563 โดยเริ่มต้นพัฒนาสถาบันด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้ แนวทางในการพัฒนาสถาบันในขั้นเริ่มต้นนั้น สิ่งที่สถาบันต้องการเน้นย้ำ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งสถาบันตั้งเป้าหมายให้ “ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและประชาชน” ของสถาบัน เป็นสื่อที่เผยแพร่ช่องรายการด้านการศึกษา ตลอดจนการร่วมกับสถาบันการศึกษาไทยทั่วประเทศในการร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้สามารถเข้าถึงและมีประสิทธิภาพต่อนักเรียน นักศึกษาสูงสุด สามารถนำความรู้ที่ได้ไปทำให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสถาบันมีความพร้อม 100% ทั้งด้านอุปกรณ์และเนื้อหาการเผยแพร่ โดยคาดว่าในอนาคตอันใกล้ที่การประมูลทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องโค้วต้าของภาคเอกชนจะเกิดขึ้น โดยการประมูลจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มช่องรายการเด็ก 3ช่อง กลุ่มช่องรายการข่าว 7ช่อง กลุ่มช่องทั่วไป 7ช่อง และช่องความชัดสูง (HD) 7ช่อง อันเป็นผลจากการประกลุ่มย่อยเรื่องผลการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ กับผู้ประกอบการเอกชน ตลอดจนโค้วต้าของสาธารณะ และชุมชน อีก 24 ช่อง ซึ่งอย่างไรก็ตามรายการด้านการศึกษาจะต้องเข้าไปอยู่ในผังใหม่ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางด้านการศึกษาได้อย่างแท้จริงศาสตราจารย์.ดร. ถวิล กล่าวสรุป