ดังนั้น ลำดับขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อจากนี้ คือ ทั้งสองประเทศจะมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง เพื่อจัดทำร่างบันทึกความตกลงในเรื่องฝนหลวงให้แล้วเสร็จก่อนที่พระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2 จะเยือนประเทศอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2556 และลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ขณะเดียวกัน เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีความพร้อมที่จะสามารถดำเนินการได้ในประเทศจอร์แดน ทางจอร์แดนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับไปวางแผนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น งบประมาณ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ให้มีความพร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็ยินดีที่จะให้ทางจอร์แดนจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกอบรมการทำฝนหลวงกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในประเทศไทยคู่ขนานกันไปด้วย
ด้านนายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน เปิดเผยว่า นอกจากเทคโนโลยีฝนหลวงที่ทางจอร์แดนแสดงความสนใจซึ่งเป็นโครงการที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศแล้ว ทางจอร์แดนยังสนใจเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ไขปัญหาดินในประเทศจอร์แดนที่เป็นส่วนใหญ่เป็นดินทรายไม่สามารถทำการเกษตรด้วย รวมถึงความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว ด้านการสาธารณสุข และด้านการศึกษา ซึ่งคงจะต้องมีการจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างสองประเทศด้วยเช่นกัน
สำหรับในด้านการค้าการลงทุนที่น่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนไทยที่จะสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศจอร์แดนที่จะเป็นฐานการตลาดในการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เสียภาษีเพียง 5 % หรือการเปิดเสรีการค้ากับหลายประเทศในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนนาดา สหภาพยุโรป และตุรกีที่มีภาษีเป็นศูนย์มาตั้งแต่ปี 2010 ก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยเป็นอย่างมากที่จะใช้โอกาสนี้ไปลงทุนในประเทศจอร์แดนเพื่อขยายขีดความสามารถในการส่งออกของประเทศไทยได้