นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการพัฒนาศักยภาพผู้สัมผัสอาหารเป็นเรื่องด่วนที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งดำเนินการ ในปี 2556 นี้และได้มอบเป็นนโยบายให้กรมอนามัยโดยสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้สัมผัสอาหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่อง 4 ภาค เพื่อนำหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้สัมผัสอาหารของกรมอนามัย มาจัดการอบรมให้กับผู้สัมผัสอาหารในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เป็นการเตรียมพร้อมในเรื่องของผู้ประกอบการค้าอาหารและความปลอดภัยด้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้จะมีสถานประกอบการด้านอาหารจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของแผงลอย ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือห้องอาหารในโรงแรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการจัดการและควบคุมป้องกันอาหารให้สะอาด ปลอดภัย
“ผู้สัมผัสอาหาร” เป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรงในการเลือกวัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ มาปรุง-ประกอบอาหารให้ผู้บริโภคได้รับประทาน มีบทบาทในการควบคุมและพัฒนาสถานประกอบการด้านอาหารของตนให้ได้มาตรฐานถูกสุขลักษณะตามกฎหมายและข้อกำหนดของท้องถิ่น หากผู้สัมผัสอาหาร ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลทั้งการปรุง ประกอบและจำหน่าย อาหารก็อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่ผู้บริโภคได้ ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันดำเนินงานพัฒนาสถานประกอบการด้านอาหารให้ถูกหลักการสุขาภิบาลอาหารในสถานประกอบการอาหารประเภทต่างๆขับเคลื่อนงานผ่าน“โครงการอาหารสะอาดรสชาติอร่อย” มีร้านค้าและแผงลอยจำหน่ายอาหาร ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินฯมากถึงร้อยละ83 ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยได้พัฒนาหลักสูตร“การสุขาภิบาลอาหารตามมาตรฐานกรมอนามัย สำหรับผู้สัมผัสอาหาร ” มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อจัดอบรมให้ผู้สัมผัสอาหารมีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ให้สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานดียิ่งขึ้น ล่าสุดมีผู้สัมผัสอาหารทั่วประเทศที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรนี้แล้ว จำนวน 219,957 คน หรือประมาณร้อยละ 66
“สำหรับปีนี้มีผู้ที่ผ่านการอบรมและได้รับบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารรวมทั้งสิ้นจำนวน 417 คน ซึ่งบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารที่มอบให้ครั้งนี้จะมีการระบุชื่อเจ้าของบัตร ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกให้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันถึงความเป็นมืออาชีพของผู้สัมผัสอาหาร ช่วยให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการมั่นใจว่าจะได้บริโภคอาหารที่สะอาด ผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ ผู้จำหน่ายอาหาร ปฏิบัติตัวถูกสุขลักษณะที่ดีในการจำหน่ายอาหาร”