ทั้งนี้ จากยอดขายกองทุนตั้งแต่ต้นปี นับว่าบริษัทได้รับการตอบรับและความไว้วางใจที่ดีจากลูกค้า พร้อมทั้งบริษัทได้รับความร่วมมือที่ดีจากธนาคารกรุงไทยและตัวแทนการจำหน่าย ในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัททำให้มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนแผนการดำเนินงานในไตรมาส2 ธุรกิจกองทุนรวม บริษัทยังคงเปิดจำหน่ายกองทุนประเภทกำหนดอายุโครงการ และ Roll Over อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับลูกค้าที่กองทุนครบกำหนดอายุ และต้องการลงทุนต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะเปิดจำหน่ายกองทุน ETF ที่อิงหมวดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด KTAM SET Commerce ETF Tracker (ECOMM) และกองทุนเปิด KTAM SET ICT ETF Tracker (EICT)
ทางด้านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ อยู่ในระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเพิ่มทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไทย คอมเมอร์เชียล อินเวสเม้นท์ ( TCIF) มูลค่า 25,155 ล้านบาท สำหรับลงทุนใน เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ , แอทธินี ทาวเวอร์ , อาคาร208 และไซด์เบอร์ เวิล์ด รัชดา และ จะยื่นขออนุมัติแก้ไขโครงการกับก.ล.ต. เพื่อเพิ่มทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทย รีเทล อินเวสเม้นท์ ( TRIF) มูลค่า 18,420 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน Asiatique the River Front , Pantip ประตูน้ำ , Pantip บางกะปิ , Pantip เชียงใหม่ , ตะวันนาบางกะปิ และ OP Place ซึ่งคาดว่ากงล.ต. จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ในการอนุมัติเพิ่มทุนโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ คาดว่าจะยื่นขอจัดตั้งกองทุนใหม่ประเภทโรงแรมมูลค่า 18,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 2 สำหรับ Infrastructure fund คาดว่าจะยื่นขอจัดตั้งกองแรกได้ในไตรมาส 2 มูลค่า 2000 ล้านบาทเป็นทรัพย์สินประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ คาดว่า ในส่วนของกงอทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในปีนี้ จะมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น ประมาณ 90,000 ล้าบบาท
นายสมชัย กล่าวถึง การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และค่าเงินในไตรมาส 2 และครึ่งปีหลังของปี 2556 ว่าจากการที่เศรษฐกิจไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในขณะที่ฝั่งยูโรโซนและสหรัฐอเมริกายังคงมีความเสี่ยงและกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้คงเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ทำให้คาดว่าในไตรมาส 2 เม็ดเงินลงทุนต่างชาติทั้งเม็ดเงินลงทุนเดิมและเม็ดเงินใหม่จากการทำ QE (Quantitative Easing) จะยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาดตราสารหนี้ไทยและทำให้อัตราผลตอบแทนมีการเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ ในขณะที่ครึ่งปีหลังหากมีตราสารหนี้ออกใหม่ในตลาดเพิ่มมากขึ้นและเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซนและสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัว ก็อาจมีเม็ดเงินลงทุนไหลออกหรือย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนมีความผันผวนมากขึ้น
ในส่วนของค่าเงินจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ ที่ใช้วิธีเพิ่มสภาพคล่องเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ทำให้มีโอกาสที่จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยอีก ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อีก และสร้างแรงกดดันทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและการเมืองให้ กนง. ต้องลดดอกเบี้ยลง ขณะที่เงินเฟ้อในประเทศยังไม่สร้างแรงกดดันนัก อัตราเงินเฟ้อไทยที่ประกาศล่าสุดก็มีแนวโน้มลดลงด้วย โดยอยู่ที่ 3.2% ในเดือน ก.พ. จาก 3.4% ในเดือนก่อน และในด้าน Supply ก็ยังไม่สร้างแรงกดดันมากนัก การใช้จ่ายใน พรก. บริหารจัดการน้ำฯ ก็ยังไม่เห็นเด่นชัด ทำให้การกู้ยืมอาจไม่มากตามที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อจะชะลอลง และเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในระดับที่ค่อนข้างดี แม้ว่าจะชะลอจากปีก่อนก็ตาม ทำให้การลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นยังไม่จำเป็น หากแต่การลดดอกเบี้ยนั้นอาจกลับไปสนับสนุนการกู้ยืมที่มากเกินความจำเป็นและบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคต
ในปัจจุบันบริษัทประสบความสำเร็จในการบริหารกองทุนประเภทตราสารทุน ทั้งทริกเกอร์ฟันด์ ที่สามารถคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยก่อนครบกำหนดอายุโครงการทุกกองทุน กองทุนเปิดกรุงไทยซีเล็คทีฟ อิควิตี้ ฟันด์ ( KTSE ) ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุดในอุตสาหกรรมประเภทกองทุนตราสารทุน โดยล่าสุดผลตอบแทน YTD ณ วันที่ 27 มีนาคม อยู่ที่ 30.23 %
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2556 มองว่า การปรับตัวขึ้นของตลาดในช่วงต่อจากนี้ไป อาจเผชิญแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนได้เป็นระยะๆ โดยเฉพาะภายหลังจากที่หุ้น ส่วนใหญ่มีการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ และเมื่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประกาศออกมาไม่สอดคล้องกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนของ KTAM จะเน้นที่การคัดเลือกหุ้น (Stock Selection) โดยการประเมินมูลค่าหุ้นเทียบเคียงกับปัจจัยพื้นฐาน คุณภาพของการทำกำไร (Quality of Earnings) ที่มาจากความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนและยอดขาย มีศักยภาพในการเติบโตที่ดี เพื่อลดความผันผวนของผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมีราคาที่เหมาะสม โดยมองโอกาสการเติบโตของบริษัทในระยะ 3-5 ปี มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทีมผู้จัดการกองทุนและทีมวิจัยของบริษัทในการคัดกรองหุ้นที่จะเข้าลงทุน โดย KTAM เชื่อว่าจะเป็นหนทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ในระยะยาว นอกเหนือจากการปรับสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) ให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป
เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) สิ้นปี 2556 KTAM คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1,750 จุด (PER ประมาณ 16เท่า) โดย Valuation ของตลาดหุ้นไทยยังถือว่าไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ทางฝ่ายวิจัยของ KTAM คาดว่า อัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2556 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 22% และให้อัตราการจ่ายเงินปันผลประมาณ 3%