วันที่ 2 เมษายน 2556 เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ญี่ปุ่น จีน และสาธารณรัฐเกาหลี) ส่วนวันที่ 3-4 เมษายน 2556 เป็นการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการติดตามความคืบหน้าของการรวมตัวและความร่วมมือด้านการเงินการคลังเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยผลของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ดังนี้
1. ในด้านการรวมตัวด้านการเงินการคลังในภาพรวม อาเซียนได้ดำเนินการตามแผนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเมินความคืบหน้าของการดำเนินการได้ร้อยละ 78.5 ของเป้าหมาย ซึ่งเป็นความคืบหน้าที่น่าพอใจ โดยมีสาระสำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้
1.1 ด้านตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์(ASEAN Trading Link) ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อปลายปี 2555 ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมูลค่าการซื้อขายอาจจะยังน้อยอยู่เนื่องจากนักลงทุนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ต่างชาติและอุปสรรคด้านกฎระเบียบการชำระราคาในบางประเทศดังนั้นที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมโยงระบบ settlement ในภูมิภาค โดยไทยได้เสนอให้อาเซียนสนับสนุนการเพิ่มอุปสงค์โดยการส่งเสริมให้มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ มาลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ใน ASEAN Trading Link มากขึ้น
การลงทุนในกองทุนรวม มีการหารือเพื่อจัดทำความตกลงในรูปแบบของบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) เกี่ยวกับการยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับกฎระเบียบการเสนอขายกองทุนรวม และมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้กองทุนรวมที่ได้รับอนุญาตจากประเทศหนึ่งสามารถเสนอขายในประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพิ่มเติม
การออกจำหน่ายหลักทรัพย์ข้ามประเทศ มีการตกลงมาตรฐานกฎระเบียบเพื่อให้หลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่ายได้สามารถเสนอขายแก่นักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้โดยเปิดกว้างให้ผู้จัดจำหน่ายจากประเทศอื่นในอาเซียนสามารถเข้าไปสนับสนุนการจัดจำหน่ายของผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นในประเทศอาเซียนอื่นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพิ่มเติม
ตลาดตราสารหนี้ ได้มีการจัดทำ scorecard ด้านกฎระเบียบความโปร่งใส สภาพคล่อง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียนอื่น กฎระเบียบเกี่ยวกับการจำหน่ายและซื้อขายตราสารหนี้ไทยมีมาตรฐานสูงและเหมาะแก่การลงทุน
นโยบายตลาดทุน อาเซียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของไทย ซึ่งมีแผนพัฒนาตลาดทุนชัดเจน มีการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนอย่างเป็นระบบ และบทบาทของภาครัฐและเอกชนมีการสอดประสานกันอย่างกลมกลืน เป็นแนวทางให้อาเซียนนำไปพัฒนานโยบายเกี่ยวกับตลาดทุนในประเทศต่อไป
1.2 ด้านการเคลื่อนย้ายทุน
ได้มีการจัดทำแผนภูมิสัญญาณชี้วัดความคืบหน้าการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุน(Heat Map)พบว่าสมาชิกอาเซียนทุกประเทศยกเว้นพม่า ได้เปิดเสรีบัญชีเดินสะพัดตามพันธกรณีข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศแล้ว และพม่าจะดำเนินการรับพันธกรณีดังกล่าวในปี 2556 นี้ สำหรับการเคลื่อนย้ายทุนเข้า-ออกประเทศเพื่อการลงทุนนั้น ทุกประเทศได้มีความคืบหน้าด้านการลดอุปสรรค เช่น ขยายเพดานมูลค่าเงินลงทุนออกไปต่างประเทศไปมากแล้ว
1.3 ด้านเปิดเสรีบริการด้านการเงิน
สาขาธนาคารพาณิชย์ สมาชิกอาเซียนได้มีความคืบหน้าในการหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำความตกลงกันในกฎระเบียบการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของประเทศสมาชิกสามารถเข้าไปเปิดสำนักงานดำเนินการในประเทศสมาชิกอื่นได้
สาขาประกันภัย สมาชิกอาเซียนได้มีความคืบหน้าในการหารือกันเพื่อเร่งรัดการรวมตัวในสาขาประกันภัย ส่งเสริมการใช้บริการประกันภัย และการเชื่อมโยงระบบการประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ
การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการทางการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ ตลาดทุน และการประกัน) รอบที่ 6 คืบหน้าได้ตามแผน โดยคาดว่าจะเจรจาให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนธันวาคม 2556 และจะมีการลงนามสรุปผลการเจรจาในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเดือนเมษายน 2557 ที่ประเทศพม่า
2. ในด้านความร่วมมือทางการเงินการคลัง อาเซียนได้มีความร่วมมือทั้งในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมืด้านภาษีและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนี้
2.1 ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้มีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ASEAN Infrastructure Fund) ซึ่งได้มีการระดมทุนจากสมาชิกอาเซียนเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอาเซียน โดยคาดว่าจะมีการสนับสนุนเงินลงทุนในโครงการต่างๆของอาเซียนได้ภายในปี 2556
2.2 ด้านข้อมูลเศรษฐกิจและความคืบหน้าการรวมตัว ได้มีการจัดตั้งสำนักงานติดตามความคืบหน้าการรวมตัวของอาเซียน (ASEAN Integration Monitoring Office) ขึ้น ซึ่งสำนักงานดังกล่าวได้จัดทำรายงานความคืบหน้าการรวมตัวและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกต่ออาเซียน
2.3 ด้านการอำนวยสะดวกทางการค้า ได้มีการจัดทำพิธีสาร7 ว่าด้วยระบบศุลกากรผ่านแดน (Customs Transit System) ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกกรณีการขนส่งสินค้าผ่านพรมแดนสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเพื่อให้ประหยัดเวลาและลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร
2.4 ด้านความร่วมมือด้านภาษี โดยให้มีการประสานนโยบายในด้านภาษีระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ภาษีหัก ณ ที่จ่ายและการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการระบบภาษี เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมความมีประสิทธิภาพของตลาดทุนในภูมิภาค
2.5 ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านต่างๆมีการเสนอแผนพัฒนาศักยภาพต่างๆโดยสมาชิกอาเซียน อาทิ ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบบการเงินของประชาชนฐานราก การเผยแพร่ความรู้ทางการเงิน การสนับสนุนการเข้าถึงระบบการประกันภัย เป็นต้น
นายสมชัยฯ ได้กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า การรวมตัวในสาขาการเงินและการลงทุนระหว่างสมาชิกอาเซียนกำลังมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างเด่นชัด ในอนาคตอันใกล้นี้การเคลื่อนย้ายของการค้าและการลงทุนในอาเซียนจะมีระหว่างกันมากขึ้น การซื้อขายตราสารหนี้และตราสารทุนข้ามพรมแดนจะมีมากขึ้น สถาบันการเงินที่มีคุณภาพของประเทศไทยก็จะมีโอกาสยกระดับขึ้นเป็นสถาบันระดับอาเซียน สกุลเงินท้องถิ่นก็จะมีการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างก็เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มย่อยต่างๆ และได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินนโยบายเพื่อให้ไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมั่นคง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3684