ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะฯ ได้เชิญ Prof. Philippe Daniel รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ จากมหาวิทยาลัย du Maine ประเทศฝรั่งเศส เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง Raman Spectroscopy and Its Applications for Scientific Research ซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อหาการบรรยาย ได้จากผลการวิจัยที่ดำเนินการไปแล้วภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส นอกจากนั้น ยังมีการแนะนำมหาวิทยาลัย ตลอดจนการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศฝรั่งเศส ให้อาจารย์และบุคลากรของ มรภ.สงขลา ได้รับทราบ รวมทั้งเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อขยายผลความร่วมมือของโครงการวิจัย ที่ต่อเนื่องจากที่เคยดำเนินการมาแล้ว โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่สนใจ เข้าร่วมโครงการพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การพัฒนาอาจารย์และบุคลากร ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนมีโอกาสได้สร้างผลงานร่วมกับนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
ด้าน ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้รับการสนับสนุนจากทางคณะฯ ทำงานวิจัยในโครงการความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส เป็นระยะเวลา 4 ปี ภายใต้โครงการวิจัย 2 โครงการ โดยในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรก (พ.ศ.2552-2553) ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ทำโครงการวิจัยเรื่อง An insight of functional polymers for nano-detection of food pathogens พร้อมกับคณะนักวิจัยฝ่ายไทยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มรภ.สงขลา สำหรับประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ มหาวิทยาลัย du Maine, Nantes และ Reims ผลสืบเนื่องจากการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว ทำให้มีกิจกรรมทางวิชาการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มรภ.สงขลา ได้เชิญ Prof. Philippe Daniel ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย du Maine พร้อมด้วยคณะวิทยากรฝรั่งเศส 4 ท่าน บรรยายให้ความรู้แก่อาจารย์และบุคลากรของคณะฯ เกี่ยวกับงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทางคณะฯ จัดสัมมนาโดยเชิญนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส เป็นวิทยากร ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้ตนเองเดินทางไปทำวิจัยที่ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า ในปี 2554-2555 คณะผู้วิจัยยังได้รับทุนสนับสนุนให้ดำเนินการวิจัยเรื่อง Functional silica nano-particle aiming at bulk modification and functional coating of polymeric materials and fibers และจากโครงการความร่วมมือครั้งที่ 2 นี้ เป็นโอกาสให้ตนเองได้ทางไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย du Maine อีกครั้ง ในปี 2555 ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ นอกจากจะได้ทำวิจัยแล้ว ยังมีโอกาสได้เยี่ยมชมการดำเนินงานด้านการวิจัยที่มหาวิทยาลัย Nancy ด้วย คาดว่าทางคณะฯ จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย Nancy ในอนาคต ทั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจทางการศึกษาของยุโรป มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยเป็นเวลาอันยาวนาน ทั้งสองประเทศได้มีโครงการความร่วมมือหลายโครงการ ซึ่งโครงการวิจัยร่วมระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาความร่วมมือว่าด้วยอุดมศึกษาและการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักวิจัย และนักศึกษา ซึ่งโครงการที่ได้รับเลือกจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายไทยและฝรั่งเศส