นาย กรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ได้ให้มุมมองในภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่า จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินลงทุนจำนวนมากที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชีย โดยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในอนาคตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน และผลประกอบการ ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือภาครัฐและธุรกิจขนาด SME เนื่องจากมีประเด็นในนโยบายด้านภาษี สำหรับยุโรป คาดว่าจะเป็นปีที่สองที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพราะทั้งกรีซ และสเปน ยังมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดูได้จากอัตราว่างงานที่ยังสูงถึง 25 % ซึ่งคาดกว่าเศรษฐกิจไม่น่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเอเชียยังถือว่าเติบโตได้ดี การขยายตัวของความต้องการภายในประเทศช่วยทดแทนภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงได้ การใช้ดอกเบี้ยต่ำและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุน ซึ่งเห็นได้จากเงินลงทุนต่างชาติยังไหลเข้าตลาดทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
นางสาววรรณจันทร์ อึ้งถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ กล่าวถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ และค่าเงิน USD ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในปี 2013 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ ในขณะที่ยุโรปยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความยืดเยื้อของประเทศไซปรัสในการยอมรับเงื่อนไขจากทางอียูที่ทางรัฐบาลจะต้องขึ้นภาษีเงินฝากครั้งใหญ่ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้วทางไซปรัสน่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับทางอียูได้ แต่จะตามมาด้วยการถอนเงินเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากบัญชีธนาคารจากต่างประเทศที่อาจลุกลามต่อในประเทศอื่นๆในยุโรปได้
ส่วนจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวด้วยปัจจัยสนับสนุนให้ขยายตัวแบบยั่งยืนจากนโยบายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่เน้นลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อเพิ่มความเป็นเมือง (Urbanization) เพิ่มบทบาทการลงทุนของภาคเอกชน และ การใช้จ่ายภาครัฐด้านสวัสดิการ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องติดตาม จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการควบคุม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ สำหรับโอกาสการลงทุนที่เรามองเห็นในขณะนี้ คือการลงทุนหุ้นภูมิภาคเอเชียและตราสารหนี้ทั่วโลก
นายสิทธิศักดิ์ ณัฐวุฒิ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุนในประเทศ ได้ให้ความเห็นถึงหุ้นไทยว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีก่อน จากระดับ 1270 จุด ขึ้นมาถึงระดับ 1600 จุด หลังจากจึงได้ปรับตัวลดลงถึง 7.5% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยลบต่างๆ ที่ทำให้นักลงทุนเร่งขายทำกำไร คือ 1) ประเด็นความกังวลสถานการณ์ในไซปรัส 2) การแข็งค่าของเงินบาทที่รวดเร็วและรุนแรง ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคส่งออก และมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของ ธปท. และ 3) ประเด็นเสถียรภาพทางการเมือง จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกตรวจสอบในคดีที่แจ้งทรัพย์สินไม่ถูกต้อง และกรณีของพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามเรายังมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลาง และเห็นว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นรอบนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และยังมีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในระยะถัดไป ทั้งนี้เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมเศรษฐกิจ หรือผลประกอบการที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ในระดับที่ดี สภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดี
ด้านตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ นางสาว ชนิษฎา วีรานุวัตติ์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศและตราสารต่างประเทศ ได้กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในช่วงนี้ค่อนข้างมีความผันผวนโดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น สาเหตุหลักจากเงินทุนไหลเข้าประเทศเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณามาตรการเพื่อควบคุมค่าเงินบาทเพื่อมิให้แข็งค่าเร็วจนเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก ด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับร้อยละ 3 และคาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก และอาจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้กล่าวสรุปได้ตอนท้ายว่า เราเชื่อว่านักลงทุนสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ด้วยเส้นทางการลงทุนที่หลากหลาย นอกจากจะต้องพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว นักลงทุนจะต้องประเมินระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเลือกเส้นทางการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน โดย บลจ.ยูโอบี แนะนำนักลงทุนเลือกกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลาย จึงขอแนะนำ 4 กองทุนเพื่อเป็นโอกาสนำการลงทุนของท่าน สู่เป้าหมายที่สูงกว่า
1. ลงทุนหุ้นไทย กับ กองทุนเปิด ยูโอบี ดิวิเดนด์-โฟกัส อิควิตี้ ฟันด์ ที่เน้นลงทุนในหุ้นปันผลที่มีคุณภาพดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
2.ลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กับ กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลบอล บอนด์ ฟันด์ ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐทั่วโลก กองทุนนี้น่าสนใจเพราะการลงทุนในตราสารหนี้ทำได้ในทุกช่วงของวัฎจักรเศรษฐกิจ อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตราสารหนี้ภาครัฐทั่วโลกยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากอีกด้วย
3.ลงทุนหุ้นภูมิภาคเอเชีย กับ กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เอเชีย คอนซูเมอร์ ฟันด์ เน้นลงทุนเฉพาะบริษัทในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง
4.ลงทุนทองคำ กับ กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์ ฟันด์ — H ที่เน้นลงทุนในกองทุนรวมทองคำแท่ง SPDR ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกองทุนยังมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย (ซึ่งจะปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด)
คำเตือน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ ถึงแม้ว่ากองทุนอาจป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม แต่เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล นโยบายการลงทุน ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน