คสช.เร่งสร้างความร่วมมือ ลดมลพิษโรงไฟฟ้าชีวมวล หวั่นผลกระทบต่อสุขภาพ

พฤหัส ๐๔ เมษายน ๒๐๑๓ ๑๓:๑๔
คสช.รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ในการป้องกันปัญหาและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ชูนโยบาย เทคโนโลยีสะอาด เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เตรียมสร้างกระบวนการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกระบวนการขับเคลื่อน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.)เปิดเผยภายหลังการประชุม คสช. เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ ว่า ที่ประชุมรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้า

ชีวมวล" เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรการจัดการและควบคุมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาวะของประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบพื้นที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องมลพิษจากฝุ่นละอองหรือขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาชีวมวล ที่อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด ปัญหาน้ำเสียและแย่งการใช้น้ำของชุมชนเนื่องจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก รวมถึงถนนในชุมชนชำรุดจากการใช้รถบรรทุกขนส่ง

“ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการพลังงานสูงขึ้นมาก และต้องพยายามนำพาประเทศให้ก้าวพ้นจากการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก ดังนั้นโยบายพลังงานทดแทน ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับ เทคโนโลยีสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นที่ประชุมเห็นว่าต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยประธานคสช.จะเป็นประธานการประชุมด้วยตนเอง เพื่อให้มีความชัดเจนในทางปฎิบัติ”

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่คสช.แต่งตั้งได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานตามมติดังกล่าว เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบบ้างแล้ว อาทิ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า ๑๐ เมกกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (ประเภทเชื้อเพลิงแข็ง) เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕

นอกจากนี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาสถานะสุขภาพของชุมชนบริเวณโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอุบลราชธานี และอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อศึกษาการประกาศให้การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการปรับโครงสร้างให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค มาอยู่ภายใต้สังกัดกรมควบคุมมลพิษ เข้ามารับผิดชอบทำหน้าที่เฝ้าระวังในระดับพื้นที่ และจัดเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งแวดล้อม ในกรณีมีปัญหาร้องเรียน ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีความสอดคล้องกับสาระสำคัญตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องนี้

ท้ายที่สุดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติให้จัดประชุมร่วมโดยเชิญผู้แทนจากคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธานคสช. เป็นประธานการประชุม เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อนมติดังกล่าวร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-832-9143

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ