ทั้งนี้ จากการที่ช่วงไตรมาสที่ 1 ราคาทองคำได้มีการปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ทำให้ทางสถาบันและกองทุนชั้นนำของโลกได้มีการปรับการคาดการณ์ราคาทองคำลง เช่น แบงก์ออฟเอมริกาเมอร์ริล ลินซ์, บาร์เคลย์ แคปิตอล, ซีตี้กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์, เจพี มอร์แกน และ ธออมสั รอยเตอร์ส จีเอฟเอ็มเอส ซึ่งมีการประมาณการณ์เฉลี่ยที่ 1,730-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้กองทุน SPDR ได้มีการลดการถือครองทองคำลงในไตรมาสที่ 1 ถึง 129.56 ตัน แสดงถึงมุมมองเชิงลบต่อทิศทางของราคาทองคำ ซึ่งปัจจัยที่คอยกดดันราคาทองคำนั้นมาจากประเด็นทางสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการคลัง มาตรการคิวอี ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปนั้นประเด็นของไซปรัสกลับมาสร้างความกังวลให้กับตลาดเมื่อภาคการธนาคารมีความสุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
นางสาวฐิภากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ราคาทองคำอ่อนตัวลงมาจากความร้อนแรงของตลาดหุ้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดทองคำมายังตลาดหุ้น ดังนั้นในช่วงนี้ นักลงทุนต้องคอยติดตามทิศทางของราคาทองคำ พร้อมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์ที่ 5 เมษายนนี้ จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานออกมา สำหรับมุมมองในด้านราคาทองคำนั้น ราคาทองคำไม่ควรหลุดบริเวณ 1,530-1,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากหากหลุดลงไปแนวโน้มของราคาทองคำจะกลับตัวเป็นขาลง สำหรับกลยุทธ์การลงทุน การเข้าซื้อเก็งกำไรอาจต้องชะลอออกไปก่อน ในขณะที่หากถือทองคำอยู่ให้รอจังหวะดีดตัวเพื่อขายทำกำไร อย่างไรก็ตามในสภาวะตลาดขาลงในช่วงนี้ นักลงทุนในตลาดโกลด์ฟิวเจอร์สสามารถเปิดสถานะขายหากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือ 1,565-1,580 ดอลลาร์ต่อออนซ์