ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 17 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

ศุกร์ ๐๕ เมษายน ๒๐๑๓ ๐๙:๒๘
นายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting : AFMM) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 3 — 4 เมษายน 2556 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม โดยมีนาย PehinDatoAbdRahman Ibrahim รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นประธาน ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตลอดช่วงปีที่ผ่านมาและหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้

1. เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2555 ที่มีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและในภูมิภาคเสถียรภาพในภาคการธนาคารและภาคธุรกิจ และพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2556 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.3-6.0อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังจะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและความอ่อนแอของอุปสงค์ภายนอกภูมิภาคซึ่งส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องดำเนินนโยบายการคลังและการเงินให้เหมาะสมเพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตและความมีเสถียรภาพการเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคาและระบบการเงิน ความยั่งยืนทางการคลัง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) รวมถึงการยกระดับความร่วมมือและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความแข็งแกร่งและสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

ในการนี้ นายกิตติรัตน์ฯ ได้กล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากภาวะน้ำท่วมในปลายปี2554 ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 6.4 ในปี 2555 ทั้งๆ ที่ได้รับผลกระทบของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้เป็นปีแรกที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศ ในช่วงของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้เศรษฐกิจไทยมีความสมดุลและสามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ผ่านการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานในภาคการผลิตและขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและรักษาความยั่งยืนของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย

2. แผนการรวมตัวด้านนโยบายและระบบการเงินอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) ซึ่งช่วยสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมภายใต้แผนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีความคืบหน้าหลักใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการพัฒนาตลาดทุน ได้มีการเริ่มดำเนินการเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์(ASEAN Trading Link) ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และมีการประสานมาตรฐานกฎระเบียบเกี่ยวกับการเสนอขายกองทุนรวมและหลักทรัพย์ข้ามประเทศรวมทั้งการพัฒนาระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เพื่อส่งเสริมให้มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น สำหรับในด้านตลาดพันธบัตร ได้มีการจัดทำตัวชี้วัดระดับการพัฒนาตลาดพันธบัตรของสมาชิกอาเซียน รวมถึงศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดรองของตราสารอนุพันธ์ (2) ด้านการเปิดเสรีบริการด้านการเงิน มีความคืบหน้าในการเจรจาเปิดเสรีบริการด้านการเงินรอบที่ 6 โดยคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จภายในปี2556 และจะมีการลงนามในพิธีสารที่เกี่ยวข้องในปี2557(3) ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน มีความคืบหน้าในการจัดทำกรอบการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยไทยได้เป็นแกนนำในการจัดทำแผนภูมิสัญญาณชี้วัดระดับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุน เพื่อให้แต่ละสมาชิกนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเป็นลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจภายหลังการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุนในการนี้ นายกิตติรัตน์ฯได้กล่าวสนับสนุนแผนพัฒนาตลาดทุนของอาเซียน โดยเสนอแนะให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อเป็นช่องทางระดมทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มประเทศที่ไม่มีอันดับเครดิต โดยการพิจารณากลไกสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกดังกล่าวสามารถออกพันธบัตรในสกุลเงินบางสกุลของประเทศสมาชิก และมีกลไกการสนับสนุนด้านอุปสงค์ของการระดมทุนและสภาพคล่องในตลาดรองของพันธบัตรดังกล่าว

3. ความร่วมมือด้านการเงินและรวมตัวทางเศรษฐกิจ มีความคืบหน้าหลักๆ ดังนี้ (1) ด้านการพัฒนาระบบระวังภัยและระบบติดตามความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งสำนักงานติดตามการรวมตัวของอาเซียนได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ติดตามและประเมินความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีแนวทางการประสานการดำเนินงานกับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อนำเสนอรายงานเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียน(2) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) ขึ้นเรียบร้อยแล้วในปี 2555 โดยในระยะเริ่มต้น มีโครงการที่ให้ความสนใจที่จะเข้ารับเงินลงทุนของกองทุนฯ จากประเทศสมาชิกหลายประเทศจำนวนรวม 8 โครงการ มูลค่ากว่า 370ล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่ากองทุนฯ จะสามารถเริ่มให้การสนับสนุนได้จำนวนหนึ่งภายในปี 2556 (3) ความร่วมมือด้านศุลกากร มีการจัดทำโครงการนำร่องการใช้ระบบพิธีการศุลกากรอาเซียน ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ระหว่างสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม 7 ประเทศ และการนำพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาโมไนซ์ของอาเซียน (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature) มาใช้ในปี 2555 (4) ความร่วมมือด้านภาษีอากร มีการประสานนโยบายในด้านภาษีระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ภาษีหัก ณ ที่จ่ายและการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการระบบภาษี เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมความมีประสิทธิภาพของตลาดทุนในภูมิภาค(5) ด้านประกันภัย มีความร่วมมือเพื่อพัฒนากฎระเบียบและแนวทางการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการประกันภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีมาตรการริเริ่มใหม่เกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดหาแหล่งเงินทุนและการประกันภัยในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ (6) ด้านการเงินภาคประชาชน ในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบมาตรการริเริ่มใหม่เกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ก่อนจะนำไปปรับใช้เป็นนโยบายภายในประเทศต่อไป

4. ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน+3 ได้มีความคืบหน้าในด้าน (1) การพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)โดยขยายขนาดของ CMIM เป็น 2 เท่า จากเดิม 120พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Delinked Portion) และการจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis Prevention Facility) ซึ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือให้กับกลไกให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และการลุกลามไปยังของประเทศสมาชิกอื่นและของภูมิภาค(2) การพิจารณาแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Monitoring Office: AMRO)โดยเร่งรัดการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศโดยเร็วเพื่อให้มีสถานะ ความสำคัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆใกล้เคียงกับองค์กรระหว่างประเทศทางการเงินอื่นๆ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาคมโลกว่าอาเซียนมีกลไกที่แข็งแกร่งและเพียงพอในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาดุลการชำระเงิน(3) กลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guaranteeand Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3ได้เริ่มอนุมัติค้ำประกันเครดิตการออกตราสารหนี้ให้แก่บริษัทเอกชนของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เป็นรายแรกแล้ว โดยคาดว่าบริษัทดังกล่าวจะออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย มีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 3000 ล้านบาท) ได้ภายในเดือนเมษายนนี้

5. ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการจัดประชุม AFMM ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่นักลงทุนในไทยมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในการเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ของมาเลเซียและสิงคโปร์จากการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ของ 3 ประเทศเข้าด้วยกันแล้วตลาดหลักทรัพย์ไทยก็จะมีการเติบโตขึ้นจากการลงทุนของนักลงทุนในอาเซียนที่จะมาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย การตกลงประสานมาตรฐานกฎระเบียบเพื่อให้หลักทรัพย์และกองทุนที่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่ายได้สามารถเสนอขายแก่นักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น จะอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางในด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจไทยกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน ก็จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเชื่อมต่อกับไทยทั้งทางด้านพลังงานและโทรคมนาคมเพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเพื่อให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ของการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในภูมิภาค นอกจากนี้ การเชื่อมโยงเครือข่าย ATM ในอาเซียนจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนของไทยและอาเซียนในการใช้ ATM ในประเทศสมาชิกอื่นๆการเพิ่มวงเงินของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี และการยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน+3 จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทยและภูมิภาคในการมีความพร้อมรองรับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ

6. การประชุม AFMM ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศพม่าในช่วงต้นเดือนเมษายน 2557

สำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3660

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version