นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดจัดการสัมมนายางพาราอาเซียนและประเทศพันธมิตร เรื่อง ทิศทางและความเติบโตในด้านอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตร ณ โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์เคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 10 — 12 เมษายน 2556 วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา โดยจะมีการพบปะระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราระดับโลก เพื่อร่วมกันผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราให้ก้าวสู่ระดับโลก พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมงานวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา รวมถึงการใช้ประโยชน์ยางธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งภายในงานนี้จะมีตัวแทนจาก 13 ประเทศในเอเชียเข้าร่วม ประกอบด้วย 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และอีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกเข้าร่วมด้วย
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า การสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย 6 วาระ ได้แก่ วาระที่ 1 ภาพรวมในเรื่องของราคายางและกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงราคา ในหัวข้อ กลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงราคา การคาดการณ์ในเรื่องของการผลิต การใช้ และราคายางธรรมชาติของโลก และบทบาทในอนาคตของบริษัทร่วมทุนยาง 3 ประเทศ วาระที่ 2 สถานการณ์และศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ในหัวข้อ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางของอินเดียในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต สถานการณ์ปัจจุบันและศักยภาพในการปลูกยางในประเทศพม่า และความเคลื่อนไหวของยางพาราที่ผ่านมาและความเติบโตในอนาคตในประเทศอินโดนีเซีย วาระที่ 3 ความท้าทายของอุตสาห กรรมผลิตภัณฑ์ยางในส่วนที่สัมพันธ์กับการบริโภคยาง ในหัวข้อ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางของเวียดนามในปี 2555 และในอนาคต สถานการณ์อุตสาหกรรมยางล้อและการใช้ยางธรรมชาติในประเทศจีน และความท้าทายในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมาเลเซีย วาระที่ 4 นวัตกรรมของยางธรรมชาติเพื่อการพัฒนาด้านการทำสวนยาง ในหัวข้อ การใช้เทคโนโลยีด้านดาวเทียมในการเพาะปลูกยาง แนวทางในการปลูกยางอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการด้านการเกษตรขั้นสูงเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย วาระที่ 5 แนวโน้มของการพัฒนาอุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ คุณภาพของธรรมชาติสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลกระทบของการปลูกยางในพื้นที่ดินทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เปรียบเทียบนวัตกรรมของยางธรรมชาติกับยางสังเคราะห์ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ วาระที่ 6 การเสวนาทิศทางและความเติบโตในด้านอุตสาหกรรมยางของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตร
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความ สำคัญต่อประเทศในแง่ของการจ้างงานและการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพสูงในด้านวัตถุดิบที่เป็นข้อได้เปรียบต่อประเทศคู่แข่ง และการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนและอินเดียส่งผลให้ตลาดโลกมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และทำให้ราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยางพารามีแนวโน้มที่ดีในการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจากผลผลิตของยางพาราปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีสมาชิกในภูมิภาคเข้าร่วมวันยางพาราอาเซียน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยจะแสดงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นผู้นำด้านการผลิตยางธรรมชาติ เป็นศูนย์กลางผลิตและค้าขายยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่มีความสำคัญและสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอย่างมหาศาลด้วยราคาที่สูงในตลาดโลก และเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของวงการเกษตรไทย