การผลิตยางแผ่นรมควันในประเทศไทยประสบปัญหาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอบแห้งของแผ่นยางที่ไม่สม่ำเสมอ ความร้อนที่เข้าสู่ห้องอบยางไม่กระจายตัวทำให้เกิดความร้อนเป็นจุดๆ ทำให้ยางแผ่นรมควันที่ได้มีคุณภาพต่ำ ความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้ห้องอบรมควัน รวมถึงระยะเวลาในการอบยางที่ค่อนข้างนานในแต่ละรอบ ทำให้สูญเสียทั้งเวลาและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจำนวนมากเป็นผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการอย่างมาก
รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันใน“โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปน้ำยางพาราแบบลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม”ว่า โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พัทลุง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช),โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในการพัฒนาเตาอบยางมีโจทย์ที่จะต้องดำเนินการแก้ไข อันดับแรกคือโรงอบยาง เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาเรื่องไฟไหม้ เรื่องที่สองคือคุณภาพของแผ่นยางที่ผ่านการอบไม่ได้คุณภาพ มีปริมาณยางที่เสียหายหลังผ่านการอบจำนวนมากในลักษณะของยางเกิดการพองตัว ไม่สุกหรือแห้ง สีไม่สม่ำเสมอ และสุดท้ายคือเรื่องของพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาหลัก เพราะที่ผ่านมาโรงอบยางจะต้องใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงปีละประมาณ 6-7แสนบาทต่อปี ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นว่าจะต้องเข้ามาดำเนินการหาวิธีแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในประเด็นเหล่านี้ให้สำเร็จ
“ในการดำเนินงานนั้น หลังจากที่ได้รับรู้ถึงปัญหาการอบยางของเกษตรกรแล้ว มหาวิทยาลัยได้รับการประสานจากโครงการ iTAP และสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมอบหมายให้ รศ.ดร.ฐานิตย์ เมธิยานนท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและการถ่ายเทความร้อน เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ เข้าไปทำการเก็บข้อมูล ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่แท้จริง รวมถึงการวางแนวทางในการแก้ปัญหา เช่น การเกิดไฟไหม้เตาอบยางเกิดจากสาเหตุใด และพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้เกิดการสูญเสียไปในทางใดบ้าง ซึ่งเมื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งสองด้านนี้แล้วคุณภาพของยางที่ผ่านการอบจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง”
การส่งเสริมการพัฒนาเตาอบยางนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ยืนยันว่า พร้อมที่จะสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเตาอบยางต่อไป เพื่อให้ได้เตาอบยางที่มีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันการพัฒนาเตาอบยาง ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะพื้นที่ในเขตจังหวัดภาคใต้เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ขยายผลการศึกษาการพัฒนาเตาอบยางประสิทธิภาพสูงจากการดำเนินการในภาคใต้จำนวน 32 เตา ออกไปยังภาคตะวันออกและภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่การเพาะปลูกยางพารามากเช่นกัน
รศ.ดร.สุเจตน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีความภูมิใจที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเตาอบยางซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะเดิมการอบยางจะต้องใช้เวลา 4 วัน บางแห่งมีเตาอบเพียง 3-4 ห้อง ต้องหมุนเวียนการอบยาง ดังนั้น หากน้ำยางมีมากเกินไป เกษตรกรต้องนำน้ำยางที่เหลือไปขายเป็นน้ำยางดิบจะได้ราคาต่ำ เพราะถูกหักเรื่องความชื้นหรือเปอร์เซ็นต์ยาง แต่หลังจากได้มีการพัฒนาเตาอบยางแล้วพบว่าสามารถลดระยะการอบให้เหลือเพียง 2 วันครึ่ง ทำให้รอบของการอบยางสั้นลง เกษตรกรสามารถเพิ่มกำลังการผลิตหรือการอบยางได้มากกว่าเดิม ลดปริมาณการขายน้ำยางดิบลงและยังประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึง 40% ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องพัฒนาเตาอบยางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรชาวสวนยางในแบบยั่งยืนตลอดไป
“ตั้งแต่ปี 2552-2553 เราสร้างเตาอบยางต้นแบบขึ้นมา ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเตาอบยางรุ่นต่อๆ มาให้ดียิ่งๆ ขึ้น โครงการนี้เป็นเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องการช่วยเหลือชาวเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และพิสูจน์ให้เห็นว่างานวิจัยไม่ได้เป็นเพียงรูปธรรม แต่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริงอย่างเต็มที่ และสิ่งที่เราสนใจมากก็คือเรื่องของการพัฒนาที่เป็นรูปแบบที่ยั่งยืน”
รศ.ดร.ฐานิตย์ เมธิยานนท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของพลังงานและการถ่ายเทความร้อน กล่าวว่าจุดเด่นของเทคโนโลยี เตาอบรมควันยางพาราแบบประหยัดพลังงานมีลักษณะเด่น 3 ประการคือ 1. เป็นเตาอบที่เวียนอากาศภายในห้องอบกลับมาใช้ใหม่ได้หลังการอบแห้งผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งทำให้ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง 2. มีความปลอดภัยในการใช้งานโดยมีการติดตั้งชุดดักสะเก็ดไฟที่อาจหลุดลอยเข้าสู่ห้องอบซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ และ 3. มีการติดตั้งชุดวัดอุณหภูมิของลมร้อนที่เข้าห้องอบเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมอุณหภูมิลมร้อนไม่ให้สูงเกินไป ทำให้มั่นใจได้ว่าอุณหภูมิในห้องอบสม่ำเสมอและไม่สูงเกินไป จนเป็นผลเสียต่อคุณภาพยางงแผ่น
ปัจจุบันได้มีการขยายผล โดยการนำเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน ไปติดตั้งให้กับกลุ่มเกษตรกรสวนยาง กลุ่มสัจจะ พัฒนายาง บ้านท้ายวัง จ.ตราด จำนวน 2 เตา ดังนี้
เตาที่ 1 เป็นเตาอบรมควันยางพาราที่ใช้เตาผลิตความร้อน 1 ลูก ใช้งานกับห้องอบรมควันแบบสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) ปี พ.ศ. 2538 จำนวน 2 ห้อง บรรจุยางแผ่นคิดเป็นน้ำหนักยางแห้งประมาณ 7 ตัน ผลจากการทดสอบประสิทธิภาพพบว่า ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่า 69,000 บาทต่อเตาต่อปี (คำนวณจากราคาไม้ฟืน 0.8 บาทต่อกิโลกรัม) สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 (จากเดิม 49 ตันยางแห้งต่อเดือน เป็น 70 ตันยางแห้งต่อเดือน) ลดระยะเวลาในการอบยางแผ่นลงร้อยละ 20 (จากเดิม 4 วัน 3 คืน เป็น 3 วัน 2 คืน) ที่สำคัญยางแผ่นที่ได้มีคุณภาพดีขึ้น มีสีเหลืองสม่ำเสมอ ไม่มีรอยดำไหม้เกิดขึ้น
เตาที่ 2 เป็นเตาที่ทางกลุ่มสัจจะ พัฒนายาง บ้านท้ายวัง ใช้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับนักวิจัย ซึ่งได้ก่อสร้างเตาอบรมควันจำนวน 1 ลูก และติดตั้งใช้ระบบท่อลมในโรงอบยางแผ่นรมควัน จำนวน 2 ห้อง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปทรงของเตาจากทรงกระบอกมาเป็นทรงสี่เหลี่ยมซึ่งทำให้ใส่ฟืนได้สะดวกขึ้น ผลการทดลองพบว่าเตาอบรมควันนี้ใช้งานได้ดีและเป็นที่น่าพอใจ สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้จำนวนเพิ่มขึ้น โดยยางที่ผ่านการอบมีคุณภาพดี ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.2 ล้านบาทต่อปี และก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 1.8 ล้านบาท ปัจจุบันเตาอบรมควันนี้ได้มีการขยายผลโดยนำไปใช้ในกลุ่มสัจจะ พัฒนายาง บ้านเขาหมาก จ.ตราด
แล้วเช่นกัน