กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมยกระดับยางพาราไทยก้าวสู่ศูนย์กลางยางพารา

พฤหัส ๑๑ เมษายน ๒๐๑๓ ๑๐:๕๕
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมยกระดับยางพาราไทยก้าวสู่ศูนย์กลางยางพารา ในกลุ่ม AEC จัดประชุมวิชาการ วันยางพาราอาเซียน หวังร่วมกันกำหนดทิศทางและการเติบโตของอุตสาหกรรมยางทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จัดการสัมมนายางพาราอาเซียนและประเทศพันธมิตรเรื่อง ทิศทางและการเติบโตในด้านอุตสาหกรรมยางของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตร ในระหว่างวันที่ 10 — 11 เมษายน 2556 ณ โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์คาเดีย รีสอร์ทแอนด์สปา โดยมีตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ เวียดนาม ไทย พร้อมตัวแทนจากกลุ่มผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกอีก 3 ประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เข้าร่วม

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก กำลังย้ายฐานมาสู่เอเชียเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบและประชากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจ นำรายได้เข้าประเทศระดับต้น ๆในหลายประเทศ แต่ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มอาเซียน ยังผลิตยางส่งออกในรูปวัตถุดิบเป็นหลัก มีการใช้ในประเทศไม่มากนัก ขาดเทคโนโลยีก้าวหน้า จึงทำให้สูญเสียมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อีกทั้งขาดวิธีการปฏิบัติที่ดีอย่างมีมาตรฐาน จึงทำให้ต้นทุนการผลิตและการแปรรูปเพิ่มขึ้น และยังอาจถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น มีส่วนในการผลักดันให้กลุ่มอาเซียนเข้มแข็งในทุกๆ ด้าน เพื่อความอยู่รอดและการพัฒนาไปสู่การแข่งขันระดับโลกได้ เหมือนเช่นประเทศกลุ่มอียู หรือสหภาพยุโรป เพราะลำพังประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ จำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาสู่ภูมิภาค ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมยางในภาพรวมและนโยบายของรัฐบาลเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน ที่จำเป็นต้องแสดงภาวะผู้นำของโลกในการพัฒนาอุตสาหกรรมของกลุ่มอาเซียนร่วมกัน ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่ ประกอบด้วยประเทศผู้ผลิตยางเป็นหลัก อีกทั้งยังมีประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่มีศักยภาพสูง เช่น จีน อินเดียและ ทำให้จำเป็นที่จะต้องเร่งกำหนดทิศทางและพัฒนายางพาราแบบครบวงจรขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการร่วมมือกับประเทศพันธมิตรต่าง ๆ ด้วย

“สาระสำคัญในการประชุมในงานวันยางพาราอาเซียนครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ผลิตยางธรรมชาติ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการที่จะสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ สำหรับการผลิตยางธรรมชาติให้ยั่งยืน และสร้างความแข็งแกร่ง เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตรายย่อย และก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแง่การสร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในระดับนานาชาติ ดังนั้น การสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมยาง จึงต้องมีการพัฒนาและทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในปี 2556 นี้ คาดว่าราคายางจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลสืบเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ประกอบกับเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติแทนการใช้ยางสงเคราะห์มีมากขึ้นด้วย ประกอบกับภาครัฐได้มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศและเพิ่มมูลค่ายางพารา การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา การศึกษาวิจัย ตลอดจนการเจรจาร่วมลงทุนกับต่างประเทศ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการพัฒนา Rubber City เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่สามารถกำหนดราคายางพาราในภูมิภาค และที่สำคัญในเวทีการประชุมยางพาราอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก คาดว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติและสมาชิกในกลุ่มอาเซียนในการเตรียมความพร้อมให้วงการยางพาราเข้มแข็งอย่างยั่งยืนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนต่อไปในเร็ว ๆ นี้” นายยุทธพงศ์ กล่าว

ด้านนายโอฬาร์ พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทุก ๆ วันที่ 10 เมษายน ของทุกปี มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันยางพาราแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงและเชิดชูเกียรติพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งยางพาราไทย และในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดให้มีวาระพิเศษ และประกาศให้เป็น “วันยางพาราแห่งอาเซียน” หรือ ASEAN Rubber Day ขึ้นอีกด้วย พร้อมทั้งจัดให้มีงานประชุมยางนานาชาติ หรืออาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus 2013 Rubber Conference and Exhibition) ขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงมีความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก ซึ่งไทยมีวัตถุดิบมากที่สุดในโลก พร้อมจะสนองความต้องการในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ประเทศไทยยังเป็นผู้นำในด้านการผลิตและส่งออกยางในรูปวัตถุดิบมากที่สุดในโลกตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันไทยมีผลผลิตยางเฉลี่ยปีละ 3.1-3.6 ล้านตัน ซึ่งเป็นการส่งออกถึง 2.7-3.0 ล้านตันหรือประมาณ 83-88% มีการใช้ในประเทศเพียง 12-14% และส่วนที่เหลือเก็บสต๊อก 7-9% ทั้งนี้จากตัวเลขการใช้ในประเทศจะเห็นว่า หากภาครัฐมีนโยบายอย่างจริงจังในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศทั้งในส่วนของการทำถนน และสนับสนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก คาดว่าจะมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางที่ยั่งยืน อันจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรชาวสวนยาง 1 ล้านครัวเรือนหรือประมาณ 6 ล้านคน

ในช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศส่งผลให้ราคายางลดลง ประกอบกับไทยกำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ดังนั้นเพื่อเป็นการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางยางพาราโลกอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา โดยในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยาง ควบคู่กับการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของไทยอย่างจริงจัง อีกทั้งยังได้มีการเสนอให้หน่วยงานของภาครัฐได้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตยางในอาเซียน เพื่อร่วมกันศึกษาผลกระทบ การปรับตัว และการใช้ประโยชน์จากนโยบายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนกำหนดแนวทางการเร่งรัดให้ไทยเป็นศูนย์กลางเรื่องยางระหว่างประเทศของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาและทิศทางของตลาดยางในอนาคตต่อไปด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านยาง การเพิ่มผลผลิต สนับสนุนด้านการตลาด เพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศมากขึ้น ลดการส่งออกวัตถุดิบยางไปยังตลาดต่างประเทศ และเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยให้มากขึ้น ตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา ปี 2552-2556 ซึ่งได้มีการกำหนดกลยุทธ์หลักในการดำเนินการ 8 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพยางที่เป็นวัตถุดิบ 2) การพัฒนาระบบตลาดยางในประเทศและต่างประเทศ 3) การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยาง ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา 4) การปรับปรุงระบบบริหารจัดการภาครัฐ 5) ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 6) การสนับสนุนการวิจัย 7) เสริมรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง และ 8) การพัฒนาบุคลากร โดยเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับหลังจากสิ้นสุดแผนในปี 2556 แล้ว คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราภายในประเทศต่อหน่วยพื้นที่ ไปอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 รวมทั้งเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศขึ้นอีกร้อยละ 46 ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง จาก 178,935 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 230,000 ล้านบาท ในปี 2556 และที่สำคัญ เกษตรกรจะมีรายได้จากการทำสวนยางไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 บาทต่อไร่ พร้อมทั้งเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางจะมีสวัสดิการสังคมที่ดีด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version