อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย
ถือว่าคึกคักพอสมควรทั้งในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เติบโตกว่า 6.45% จากปลายปีที่แล้วดันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทะลุ 2.6 ล้านล้านบาท รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ทยอยออกมานำเสนอให้กับผู้ลงทุน อาทิ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund) กองแรกของประเทศไทย (BTSGIF) ซึ่งก็ได้ทำการ IPO เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลามมีมูลค่ากองทุนกว่า 60,000 ล้านบาท ต่อจากนี้ก็รอแค่การนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนกองกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เชื่อว่าจะยังคงทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้
หลังจากเงียบไปสักพัก กองทุน ETF ก็กลับมาอีกครั้งโดยมีการออกกองทุนใหม่ๆอยู่หลายกองทุนซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในหุ้นแบบเจาะ ดัชนีหมวดธุรกิจ (Sector) ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (EFOOD) หรือ ดัชนีหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (ENY) ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในแบบเกาะดัชนี
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ประเภท กอง 1 (Property fund type 1) ก็คึกคักเช่นกันเนื่องจากปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ทาง กลต จะอนุญาตให้ออกกองทุนประเภทนี้ ก่อนที่จะปรับไปเป็น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts: REITs) ในปี 2557 ซึ่งขณะนี้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หลายกองทุนกำลังอยู่ในช่วง IPO
ส่วนที่เงียบลงไปมากจริงๆ ก็คือ กองทุนที่ลงทุนในทองคำและน้ำมัน ซึ่งไม่เพียงแต่ความสนใจที่ลดน้อยลงเท่านั้น ผลตอบแทนของกองทุนทั้ง 2 ประเภทก็ถือว่าน่าผิดหวังเช่นกันเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเนื่องจากสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทนั้นถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากอยู่แล้ว
กลับมาอีกครั้งกับกองทุนประเภท Trigger fund ที่ตั้งแต่ต้นปีมานี้ออกกันมามากเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นที่ลงทุนในหุ้นในประเทศไทยหรือไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปีมานี้มีออกมาแล้วกว่า 40 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดกว่า 35,000 ล้านบาท (ส่วนใหญ่กว่า 80% จะเน้นลงทุนในหุ้นในประเทศไทย) ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ที่กองทุน Trigger fund ซึ่งเป้าหมายยังคงประมาณ 7-8% เหมือนเดิม ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนหุ้นแบบปกติแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าน้อยกว่าอยู่เกือบ 10% ซึ่งตรงนี้อาจทำให้นัลงทุนเสียโอกาสในการรับผลตอบแทนในระยะยาว
ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ
โดดเด่นที่สุดยังคงเป็นกลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นในประเทศไทยนำโดย โดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 17.47% ตามมาติดๆที่กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ทำได้เฉลี่ย 16.83% (ขณะที่ SET Index ทำได้12.15%) ส่วนกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศทำผลตอบแทนได้ไม่ค่อยดีนัก โดย กลุ่ม Global Equity ทำได้เฉลี่ย 3.82% กลุ่ม Emerging Market Equity ทำได้เฉลี่ย -3.57% และ กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ทำได้เฉลี่ย -2.46%
ไตรมาสแรกนี้กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศดูจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นมากทำให้ผลตอบแทนลดลง (ในกรณีที่กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน)
เช่นเดียวกับกองทุนทองคำและน้ำมันที่ได้ผลกระทบทั้งจากการที่ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นส่งผลให้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีนัก โดยกองทุนทองคำ ทำได้เฉลี่ย -5.27% และ กองทุนน้ำมัน ทำได้เฉลี่ย 1.91% (ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เอกสารที่แนบมา)
บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ ประกาศหยุดจัดอันดับเรตติ้งกองทุนประเภท Money Market Fund
ท้ายนี้อยากฝากข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดอันดับเรตติ้งกองทุน (Morningstar Rating) ในส่วนของกองทุนกลุ่ม Money Market Fund ว่าทางบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ จะหยุดทำการจัดอันดับเรตติ้งกองทุนของกองทุนดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ทั้งเนื่องจากทางบริษัทเห็นว่าตราสารที่กองทุนในกลุ่มดังกล่าวนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั้งในรูปของความเสี่ยงและผลตอบแทน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ส่งผลถึงกองทุนในกลุ่ม Money Market Fund ทั่วโลกที่ทางบริษัททำการจัดอันดับอยู่
สามารถติดต่อได้ที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ 02-251-9730 ต่อ 15