นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้งแมนเนจเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GBX เปิดเผยถึงกรณีที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงในขณะนี้ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯดำเนินธุรกิจในรูปแบบค้าทองคำแท่ง ในลักษณะ Back-to-Back (ซื้อมาขายไป)ซึ่งบริษัทฯจะมีส่วนต่างรายได้จากการซื้อ ขายทองคำ พร้อมทั้งได้มีการป้องกันความเสี่ยง(เฮจด์จิง)จากการผันผวนของราคาทองคำ รวมทั้ง อัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นจากกรณีการผันผวนของทิศทางราคาทองคำดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯแต่อย่างใด ในทางกลับกัน จากกรณีที่ทองคำผันผวนนั้น GBX กลับมีมาร์จิ้นจากมูลค่าการซื้อขายเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากแนวโน้มราคาทองคำที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางGBX แนะนำกลยุทธ์การลงทุน ให้นักลงทุนทยอยซื้อขายตามกรอบแนวรับแนวต้าน ที่1,150 - 1,530 ดอลลาร์/ออนซ์ พร้อมทั้งให้ติดตามราคาทองคำในช่วงระหว่างวันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่า ทิศทางราคาทองคำในขณะนี้เป็นช่วงขาลง และมีความผันผวนอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากราคาทองคำในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่เคยหลุดต่ำกว่า 1,530 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ล่าสุดราคาทองคำปรับตัวลดลงมาแตะระดับ 1,386 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งราคาปรับตัวลดลงเฉลี่ย 9.4% หรือ 144 ดอลลาร์/ออนซ์
นายทรงวุฒิ กล่าวว่า จากการผันผวนของทิศทางราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กรอบการลงทุนทองคำในปีนี้เปลี่ยน ไป ทำให้ GBX ปรับกรอบแนวต้าน ในช่วง 3-6 เดือนนี้ ไว้ที่ 1,530 ดอลลาร์/ออนซ์ จากเดิมที่ให้ไว้ 1,750 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่กรอบแนวรับหากหลุด 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ กรอบแนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 1,250 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ ราคาทองคำโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรง ในคืนวันศุกร์ และ วันจันทร์ ที่ผ่านมา เกิดจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของประเทศในกลุ่มยูโรโซน อาทิ ข่าวไซปรัสขายทองคำที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาเพื่อระดมเงินกว่า 400 ล้านยูโร และความกังวลว่าประเทศอื่นๆที่มีขนาดใหญ่กว่าไซปรัส อาจจะขายทองออกมาอีก รวมทั้งสหรัฐฯ อาจหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในปลายปีนี้
หลังเจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเรื่องระยะเวลาในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QEs โดยหลังจากราคาทองคำปรับตัวลงต่ำกว่าระดับราคา 1,527ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นแนวรับระยะยาวที่สำคัญมาก ส่งผลให้มีคำสั่ง Stop Loss Orders และ Panic Sells ออกมาจำนวนมาก กดดันราคาทองคำทำ ให้ราคาทองคำปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ กองทุน SPDR ยังได้ขายลดสถานะออกมาเพิ่มเติมกว่า 46.63 ตัน ซึ่งบ่งชี้ว่านักลงทุนและกองทุนต่างๆ ได้มีการลดพอร์ตลงทุนในทองคำครั้งใหญ่ ทำให้ทองคำปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ที่ระดับราคา 1,321.35 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันอังคารที่ 16 เมษายน 2556 หลังจากได้ทำจุดสูงสุดที่ 1,920 ดอลลาร์/ออนซ์ ในวันที่ 6 กันยายน 2554
อย่างไรก็ตาม มองกรอบราคาทองคำสิ้นสุดสัปดาห์นี้ ที่ 1,265 -1,425 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 17,250-19,500 บาท/บาททองคำ(อ้างอิงค่าเงินบาทที่แข็งมากในระดับ 28.75 บาท/$) โดยแนะนำให้ทยอยขายหรือเปิดสถานะขายที่แนวต้าน 1,400-1,425 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 19,150-19,500 บาท/บาททองคำ ซึ่งเป็นแนวต้านทางจิตวิทยาและเป็นระดับ 1 ใน 3 ของการปรับตัวลงตามวิธี Fibonacci โดยมีจุดซื้อกลับทำกำไรที่ 1,340 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 18,300 บาท/บาททองคำและ 1,320 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 18,050 บาท/บาททองคำตามลำดับ สำหรับผู้ที่ทำการลงทุนเป็นราคาทองคำไทยควรป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย Short (ขาย) USD Futures โดยในสัปดาห์นี้มีแนวรับที่ประมาณ 28.50 บาท/$ และในช่วงสุดสัปดาห์จะมีการประชุม G-20 และ IMF ส่วนปัจจัยที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ (จันทร์), ดัชนีภาคการผลิตจีน HSBC และยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ (อังคาร), ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีและคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (พุธ), ผลผลิตมวลรวมอังกฤษและยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐ (พฤหัสฯ) และผลผลิตมวลรวมสหรัฐฯ (ศุกร์)