โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเห็นผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกหลอกทุกวัน แต่กลับรู้แต่หลงลืม หรือไม่รู้ว่าอันที่จริงแล้วเราก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มาตั้งแต่ปี 2522 จึงทำให้ทุกคนยังประสบปัญหาผู้บริโภคอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคก็อยากมีองค์กรที่เป็นของตัวเองที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค จากการต่อสู่มาอย่างยาวนานถึง 15 ปี ยังไม่มีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเนื่องจากคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของทั้งสองสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเสร็จและรอนำสู่การพิจารณาของทั้งสองสภาเพื่อให้การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน นั่นจะเป็นกลไกใหม่ที่เป็นความหวังของผู้บริโภค จะช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
“ที่ผ่านมาเราทำงานรณรงค์ต่อสู้มาก็มากแล้ว จึงคิดว่าถ้าปรับกลยุทธ์มาใช้ศิลปะ โดยเฉพาะหนังสั้นมาเป็นสื่อกลางบ้างน่าจะทำให้เข้าถึงประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รู้จักมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และรับทราบประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น และในที่สุดผู้บริโภคช่วยสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าว” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
ซึ่งนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพสสส. กล่าวว่า เพื่อเป็นการสื่อสารให้สังคมรู้ถึงสิทธิที่ตนพึงมีจึงมีการจับมือกับผู้กำกับหนังมืออาชีพ 6 คน อาทิ พิมพกา โตวิระ กำกับหนังสั้นเรื่อง Heart Station, ไพจิตรศุภวารี กำกับหนังสั้นเรื่องกรรมใคร...?, มานุสส วรสิงห์ กำกับหนังสั้นเรื่อง Priceless,ชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา กำกับหนังสั้นเรื่อง กลับบ้าน, บุญส่ง นาคภู่ กำกับหนังสั้นเรื่อง Disconnected และพัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับสารคดีสั้นเรื่อง 61 และสารคดีสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค โดยทั้งหมดเป็นหนังสั้นที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งสิ้น
“หนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1 เรื่อง” นี้จะฉายให้ชมฟรี!! เพียง 4 รอบเท่านั้น โดยจะฉานในวันที่ 27 เมษายน 2556 จะฉาย 2 รอบ เวลา 16.00 น. และ 18.30 น. วันที่ 28 เมษายน 2556 1 รอบ ในเวลา 16.00 น. และจะมีฉายรอบสื่อมวลชนในวันที่ 23 เมษายน 2556 1 รอบ โดยจะเริ่มแถลงข่าวเวลา 16.30 น. ที่เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชดำริ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถขอบัตรชมหนังสั้นชุดนี้ได้ที่ 02-612-6996-7 ต่อ 101 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในฐานะที่เป็น “ผู้บริโภค” ได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคต่อไป เราต้องร่วมมือกัน”นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
เกี่ยวกับหนังสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค
6 เรื่องสั้น
เรื่องกรรมใคร...? กำกับโดยอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี
เนื้อเรื่องนำเสนอถึงปัญหาหนี้บัตรเครดิตที่ยังเป็นปัญหาที่พบอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมปัจจุบัน ด้วยการหยิบยกเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาเล่าผ่านหนังสั้นเพื่อต้องการสะท้อนสังคมให้ฉุดคิดขึ้นมาบ้าง ก่อนที่ปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามและแก้ไม่ได้
เรื่องHeart Station กำกับโดยนางสาวพิมพกา โตวิระ
เนื้อเรื่องนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับการติดตั้งปั๊มแก๊ส LPG ในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันว่าปั๊มแก๊ส สามารถสร้างใกล้ชุมชนมากขนาดนี้ได้เหรอ แล้วแบบนี้ถือว่าผิดกฎการสร้างปั๊มแก๊สหรือเปล่า แล้วเราในฐานะประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง? เป็นการถ่ายทอด สื่อสารผ่านหนังสั้นจุดจบจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม...
เรื่องPriceless กำกับโดยนายมานุสส วรสิงห์
เรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหากับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โดยเนื้อเรื่องเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะของชายวัย 40 ปี ที่ทำงานอิสระ ไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง รายได้ไม่มั่นคง แต่เมื่อญาติจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกัน แต่เมื่อได้มา ญาติๆ กลับมาฉุดคิดต่อว่าสิ่งที่ได้มาเหมาะสมกับรายได้ที่ชายผู้นี้พึงจะได้หากเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่? แล้วถ้าไม่เหมาะสมละ! จะทำอะไร อย่างไรได้อีก?
เรื่องกลับบ้าน กำกับโดยนายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา
นำเสนอปัญหารถตู้สาธารณะ ที่ผู้บริโภคต้องนั่งรถตู้โดยสารเพื่อเดินทาง หากเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง พ่อ แม่ ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจะสามารถเรียกร้องอย่างไรได้บ้าง แล้วใครจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ วงการธุรกิจรถตู้จะได้รับผลอย่างไร นี่คือปัญหาที่สะท้อนผ่านหนังสั้นเรื่องนี้
เรื่อง disconnected กำกับโดยนายบุญส่ง นาคภู่
หนังสั้นเรื่องนี้นำเสนอปัญหาการใช้บริการเครือข่าย 3G ที่มีการแข่งขันกันสูงของเจ้าของระบบแต่ละเครือข่าย ด้วยโปรโมชั่นที่หลากหลายเพื่อที่จะแย่งชิงลูกค้า โดยไม่สนใจว่ามันจะเกิดผลอะไรกับผู้บริโภคบ้าง แต่เมื่อในวันที่ระบบหรือสัญญาณแย่ แล้วบังเอิญตอนนั้นเป็นช่วงที่ผู้บริโภคกำลังต้องการจะสื่อสารในเรื่องสำคัญ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ จนทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ แล้วใครจะรับผิดชอบ? ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้กำกับได้นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ
เรื่อง 61 กำกับโดยนายพัฒนะ จิรวงศ์
นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ การต่อสู้ชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะ สายสิงห์บุรี - ลพบุรี ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริง ของผู้ประสบเหตุในครั้งนั้น
1 สารคดีสั้น
เป็นหนังสารคดีสั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กำกับโดยนายพัฒนะ จิรวงศ์
เรื่องนี้เป็นการติดตามการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่พยายามผลักดันมาตรา 61 กับการทำงานที่สะท้อนออกมาในมุมมองของนักรณรงค์ที่มุ่งมั่นเรียกร้องสิทธิที่พึงมี และผู้บริโภคควรได้รับ เรื่องราวจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงระหว่างการทำงานมูลนิธิฯ ต้องต่อสู้กับอะไร? แล้วทำไมยื่นมาตรา 61 ไปก็นานแล้ว แต่ทำไมไม่มีการรับร่างกฎหมายสักที