การเรียนรู้แบบโปรเจค แอพโพรช จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 หรือที่เรียกว่าระยะเริ่มต้น เมื่อเด็กๆเลือกได้แล้วว่าอยากจะศึกษาเรื่องอะไร ก็ถึงเวลาของการ brainstorm หรือระดมสมองยิงคำถาม เพื่อให้เกิดเป็นกรอบเริ่มต้นในการสืบค้นข้อมูล คำถามต่างๆมากมายถูกเรียงร้อยออกมาจากเด็กๆจัดเขียนโดยครูให้เป็นแผนผังก้างปลา หรือ mind map เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ ซึ่งเด็กๆเริ่มต้นตอบคำถามแรกที่ว่า “วัดคืออะไร?” จากการค้นคว้าในพจนานุกรม อินเตอร์เน็ต และหนังสือต่างๆที่หาได้รอบตัว น้องออม เด็กหญิงวฤณสนันตน์ นิ่มนวลสกุล สรุปให้เราฟังได้ว่า “วัดเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา เป็นที่อยู่อาศัยของพระ ภายในวัดต้องประกอบด้วย โบสถ์ วิหาร เจดีย์ หอระฆัง บางแห่งมีเมรุสำหรับเผาศพ วัดแห่งแรกชื่อเวฬุวัน อยู่ในประเทศอินเดีย” ซึ่งน้องเน เด็กหญิงเนวิรินทน์ ทองเจริญ ได้เล่าเสริมว่า “วัดคือที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นที่ๆคนไปรวมกันทำความดี เรียนรู้พระธรรมคำสอนจากพระ และที่เราเรียกว่า “วัด” เพราะว่าชาวบ้านเป็นผู้วัดพื้นที่ให้เท่านั้นไร่เท่านี้ไร่”
เมื่อเด็กๆได้รวบรวมคำถามและหาคำตอบในระยะเริ่มต้นแล้ว ระยะที่ 2 หรือระยะการรวบรวมข้อมูล ในระยะนี้เด็กจะได้วางแผนไปสถานที่ต่างๆเพื่อทัศนศึกษา สำรวจ สืบค้น จากของจริงและเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ตรงกับวัด ลักษณะต่างๆ กันออกไป มีวิทยากรที่จะมาเป็นผู้ตอบคำถามไขข้อสงสัย ซึ่งในครั้งนี้นักสืบค้นรุ่นจิ๋ว ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่วัดเซนต์หลุยส์ ถนนสาธร ซึ่งในขั้นตอนนี้ทำให้เด็กๆได้ความรู้กว้างขึ้นไปจากความรู้เดิมคือศาสนาอื่นก็มีวัดและแตกต่างไปจากวัดของศาสนาพุทธ และไม่ได้เป็นทุกวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ซึ่งน้องปลื้ม เด็กชายธนิสร แซ่ลิ้มบอกกับเราว่า “วัดเซนต์หลุยส์เป็นวัดในศาสนาคริสต์ มีรูปปั้นพระเยซูถูกตอกติดไว้กับไม้กางเขน เพราะช่วยผู้คนให้พ้นจากความไม่ดี วัดเซนต์หลุยส์ไม่เหมือนวัดไทย เพราะไม่มีพระสงฆ์ มีแต่คุณพ่อแต่งชุดสีขาว” น้องออม เด็กหญิงวฤณสนันตน์ นิ่มนวลสกุล เล่าเสริมว่า “ศาสนาคริสต์ต่างกับศาสนาพุทธตรงที่ไม่เผาศพ เมื่อนำศพมาทำพิธีแล้วก็จะนำไปฝัง แต่ของพุทธเอาไปเผาแล้วเหลือแต่กระดูก เวลาเราเข้าไปในโบสถ์ใช้สวดมนต์ จัดงานแต่งงาน จัดงานศพ” ซึ่งน้องปัน เด็กหญิงปราณปัญญ์ มุกดาก้านทอง ก็ได้เล่าปิดท้ายให้เราฟังว่า “ไปวัดเซนต์หลุยส์ได้ยินเสียงตีระฆัง เมื่อได้ยินเสียงระฆังแล้วต้องเตรียมสวดภาวนา ซึ่งภายในโบสถ์จะมีเก้าอี้แถวยาวๆ และมีหนังสือสวดมนต์ให้อ่านด้วยค่ะ” นอกจากเด็กจะได้ไปทัศนศึกษาที่วัดคริสต์เซนหลุยส์แล้ว เด็กๆยังได้ไปทัศนศึกษาที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก โดยมีพระอาจารย์ชายกลางเป็นวิทยากรให้ น้องเรนนี่ เด็กหญิงธัญญานันท์ วิรัตน์ธนันท์ บอกว่า “วัดต้องมีเขตที่พระสงฆ์อยู่ ได้รู้ประวัติของพระพุทธเจ้า วัดนี้มีโบสถ์เป็นสีขาว ในโบสถ์ไม่มีลวดลายอะไร มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๑ องค์ เห็นรูปของในหลวงบวชด้วย หน้าต่างก็ไม่มีลวดลาย ทำจากไม้ แล้วก็มีกระจก ข้างนอกโบสถ์มีสระน้ำ ในสระน้ำมีกังหันชัยพัฒนา ช่วยให้น้ำใส แล้วสัตว์น้ำอยู่ได้ ในหลวงสร้างขึ้นมา” ส่วน น้องแบมแบม เด็กหญิงพริมา ทรงธีระปัญญา เล่าให้ฟังว่า “ไปวัดพระราม ๙ เจอพระอาจารย์อธิบายให้ฟังเกี่ยวกับเรื่อง วัด พระอาจารย์ถาม วัดคืออะไร แบมตอบได้วัดคือสถานที่ที่คนไปทำบุญ เป็นที่เรียนหนังสือ วัดนี้เป็นวัดของในหลวงทรงสร้าง สร้างแบบเศรษฐกิจพอเพียง โบสถ์จึงเล็ก โบสถ์เป็นสีขาวหลังคาเป็นกระเบื้อง เป็นรูปสามเหลี่ยมและมีตราสัญลักษณ์ของในหลวง มีรูปปั้นช้างอยู่ใกล้ๆหน้าประตูโบสถ์ มีเสาเสมาอยู่ 4 เสา รอบโบสถ์ มีพระสงฆ์กำลังสวดมนต์อยู่ วัดอยู่ติดกับโรงเรียน ประตูจะไม่มีการปิดระหว่างวัดกับโรงเรียน ที่วัดมีสระน้ำให้สัตว์น้ำอยู่ มีกังหันชัยพัฒนามันจะหมุนตลอด ช่วยทำให้น้ำเสีย หายไป”
อีกทั้งเด็กๆ ยังมีโอกาสไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดสระเกศหรือที่เรารู้จักกันในนาม “วัดภูเขาทอง” อีกด้วย โดยที่วัดนี้ต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 344 ขั้น เพื่อขึ้นสู่ยอดเจดีย์แม้จะเหนื่อยแต่เหล่าเด็กน้อยก็ไม่ย่อท้อ เดินตามหลวงพ่อกันต้อย ๆ น่าเอ็นดู ซึ่งน้องออม เล่าความประทับใจให้เราฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “หนูชอบวัดภูเขาทองค่ะ หนูได้ขึ้นบันไดและหนูก็กลัวเพราะมันสูงมาก แต่พอขึ้นไปถึงวัดสวยมากเลยค่ะ หนูได้เดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วยค่ะ ดีใจที่ได้ไปค่ะ” หากใครไม่เคยไปวัดนี้ก็สามารถเรียนรู้ได้จาก น้องกร เด็กชายนันทกร วิชากรกุล ที่เล่าให้ฟังว่า “ไปวัดสระเกศเห็นป้ายข้างทางเขียนว่าภูเขาทอง ได้เข้าโบสถ์ข้างในโบสถ์มีพระพุทธรูป บนฝาผนังมีลายฉลุและมีเทียน มีดอกไม้ ได้ขึ้นบนภูเขาทอง ขึ้นบันได 344ขั้น และบนยอดมีพระบรมสารีริกธาตุ แล้วลงบันไดจากชั้นบนลงมาชั้นกลาง ก็คือห้องที่มีพระพุทธรูปและขึ้นบันไดอีกบันไดหนึ่ง บันไดที่ขึ้นภูเขาทองชัน ส่วนบันไดที่จะไปพระบรมสารีริกธาตุไม่ชัน เจอพระสงฆ์ได้เล่าเรื่องว่าเดิมวัดนี้ชื่อวัดสะแก แต่รัชกาลที่ 1 ได้ใช้น้ำลูบศีรษะก่อนขึ้นครองราชย์ก็เลยเปลี่ยนชื่อวัดนี้ให้เป็นวัดสระเกศ ตอนลงบันไดหวาดเสียวมากเพราะสูงมาก เห็นต้นไม้ข้างต้นไม้มีน้ำตก หลังจากลงบันได ได้เข้าศาลาการเปรียญ เห็นพระพุทธรูปและฐานพระพุทธรูปมีสัญลักษณ์ในหลวง และมีแสงไฟ เห็นหอไตร หอไตรคือห้องสมุดของพระแล้วในวัดยังมีโรงเรียนบาลี เห็นหอไตร หอไตรคือห้องสมุดของพระแล้วในวัดยังมีโรงเรียน บาลี เห็นหอระฆัง หอระฆังคือที่บอกเวลาของพระ และเห็นใบเสมาอยู่รอบโบสถ์”
ในระยะที่ 3 หรือระยะสรุป ก็ถึงเวลาสำคัญที่เด็กจะได้ทบทวนนำสิ่งต่างๆที่สะท้อนการเรียนรู้ตลอดโครงการมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ รูปวาด รูปปั้น แผนผังความรู้อื่นมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการเพื่อถ่ายทอดให้ได้ชมกัน ซึ่งเด็กๆ ต่างร่วมแรงร่วมใจกันจัดห้องนิทรรศการอย่างสนุกสนาน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ บ้างก็ประดิษฐ์จำลองเจดีย์วัดภูเขาทองจากบล็อกไม้ บ้างก็ใช้วัสดุเหลือใช้ต่างๆ จำลองโบสถ์สีขาวที่ได้เห็นจากวัดพระราม 9 ขณะที่เด็กบางคนก็จำลองกังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมทุกคนถึงความเป็นอัจฉริยะตัวน้อยของเด็กๆ เห็นทีคงต้องแอบขอไปไหว้พระ และปิดทองลูกนิมิตที่เด็กๆ ยื่นกระดาษสีทองที่ตัดมาให้แทนทองคำเปลวก่อนนะคะ เราผู้ใหญ่ก็อย่าลืมเข้าวัดทำบุญกันบ้างนะคะ เดี๋ยวจะแพ้เด็กอนุบาลกุ๊กไก่ที่ก่อนจากกันเด็กๆ ยังร่วมกันสวดอาราธนาศีล 5 เป็นภาษาบาลีให้เราฟังได้อย่างถูกต้องทุกคำเลยค่ะ