ภาคประชาชน-นักวิชาการถกปัญหากฎหมายเข้าชื่อฯ “บรรเจิด” ชี้ช่องต่อสู้ร่างฯประกันสังคม ชงร่างฯใหม่ - ยื่นคัดค้านต่อรัฐสภา

จันทร์ ๒๒ เมษายน ๒๐๑๓ ๑๘:๓๑
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 — คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดประชุมรับฟังความเห็น “การผลักดันการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน : หลังรัฐสภาไม่รับหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับภาคประชาชน” ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค

คลี่ปม 4 กรณีตีตกร่างกฎหมายภาคปชช.ชี้ช่องทางต่อสู้

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การเสนอกฎหมายของประชาชนแม้จะเป็นกระบวนการที่ยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาในวงกว้าง ถือเป็นการรุกคืบในอำนาจของประชาชนอีกก้าวหนึ่ง กระบวนการตรากฎหมายหากไม่มีการถ่วงดุลก็เท่ากับเป็นการให้อำนาจแก่รัฐมากเกินไป เช่น ม.291 ซึ่งกำหนดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลระบบเสียงข้างมากของรัฐสภา จึงเปิดประเด็นว่า เป็นเรื่องของเสียงข้างมาก เป็นเรื่องของประชาธิปไตย และเป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งขอเน้นย้ำว่าระบบพรรคการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบเจ้าของ จำเป็นต้องมีการส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาถ่วงดุล

ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ร่างกฎหมายของประชาชนอาจตกลงไปในช่วงใดช่วงหนึ่งใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้ได้ 1. กรณีประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ไม่อยู่ไม่ในขอบเขตหมวดสามและหมวดห้าที่ให้ประชาชนเสนอกฎหมายได้ 2.กรณีรัฐบาลหรือ ส.ส.เสนอร่างพ.ร.บ.เข้ามาแล้วและไม่สามารถรอร่างพ.ร.บ.ของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ 3.กรณีนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินและนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง 4. กรณีบทเรียนการที่สภาไม่รับหลักการของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เข้ามา 4 ร่างมีหลักการเดียวกัน กรณีนี้สภาฯใช้เทคนิคในการโหวตทีละฉบับ เพราะเกรงว่าหากประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ 1 ใน 3 แล้วจะไม่สามารถบังคับทิศทางของกฎหมายได้ จะเห็นว่าเทคนิคในกระบวนการที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.ของประชาชนตกไปยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

“ประเด็นในเชิงกฎหมาย ของการตกไปของทั้ง 4 กรณี กรณีแรก หากมองว่า การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาเป็นคำสั่งที่ไปกระทบสิทธิของผู้เสนอกฎหมาย จึงนับได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง หากศาลปกครองยอมวินิจฉัยรับว่ามติหรือคำสั่งของรัฐสภา ก็เท่ากับว่าคำสั่งถูกถ่วงดุลและตรวจสอบด้วยศาลปกครอง ในกรณีที่ประธานรัฐสภาพิจารณาล่าช้า จนเกิดผลกระทบตาม ม.9 วรรค 3 อาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งสภาอาจต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าทำให้เกิดความเสียหาย อาจนำไปสู่การเรียกค่าเสียหายในทางละเมิดได้

ส่วนกรณีที่นายกไม่รับรองเพราะเป็นร่างทางการเงินนั้น โดยปกติกระบวนการแล้ว สามารถแยกเป็น 2 กรณี คือ ประชาชนเสนอร่างพ.ร.บ.ไปเดี่ยวๆไม่มีร่างพ.ร.บ.ของทั้งส.ส.หรือรัฐบาลเสนอด้วย กรณีนี้จะลำบากในการเรียกร้อง แต่หากเป็นกรณีมีร่างของ ส.ส.ด้วยเสนอเข้ามากด้วย แล้วนายกรับรองฉบับที่เสนอโดย ส.ส.แต่ไม่รับรองฉบับที่เสนอโดยประชาชน ก็ถือว่านายกเลือกปฏิบัติ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้”

ผ่าทางตันร่างฯประกันสังคม คปก.แนะ 2 แนวทางดันร่างฯปชช.เข้าสภาฯ

ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ส่วนกรณีของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ได้เป็นการกระทำทางปกครอง แต่เป็นดุลยพินิจของสส.สว. ในการลงมติไมรับหลักการ กรณีนี้มีหลักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีผลผูกพันองค์กร ดังนั้น กระบวนการในการตราและเนื้อหาต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาไม่รับหลักการของร่างที่มีหลักการเดียวกันบางฉบับ ก็สะท้อนว่า กระบวนการตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 163 เพราะแม้เพียงกระบวนการตราที่ขัดเล็กน้อยก็ถือว่าขัด ทำให้ร่างกฎหมายที่ถูกพิจารณาตามกระบวนการนี้ตกไปทั้งฉบับ เพราะถือว่าขัดกับรากฐานของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมาย

“ทางออกกรณีร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม คือ 1.การที่สภาผู้แทนฯไม่รับร่างประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่า หลักการไม่ตรงกัน นับเป็นผลดีกับการดำเนินการต่อสู้ของภาคประชาชน เพราะเท่ากับว่าร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนนี้มีหลักการต่างกัน จึงสามารถยื่นกลับเข้าไปได้อีกครั้งได้ ดังนั้น สภาจะอ้างเหตุไม่ใช้ยื่นเพราะหลักการเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ ทางออกที่ 2 หากปฏิบัติตามข้อ 1แล้วยังไม่ได้ผล ก็ควรโต้แย้งให้ติดในสำนวนเอาไว้ โดยทำเป็นหนังสือคัดค้านไปที่รัฐสภา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะไม่สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ในทันที เพราะต้องรอให้เสร็จสิ้นในกระบวนการพิจารณาในสภาก่อน” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว

ตั้งข้อสังเกตถึงสิทธิกับผลผูกพันผู้ใช้อำนาจรัฐ

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า ปมปัญหาการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน เป็นปัญหาทั้งในเรื่องแนวคิดและเป็นปัญหาในเชิงกระบวนการ โดยจะเห็นว่ากฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนมีความเป็นไปได้ที่จะตกไปได้ในทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของการรับรองสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่ายังมีข้อพิจารณาอยู่ว่า การรับสิทธิดังกล่าวจะมีผลผูกพันกับผู้ใช้อำนาจรัฐมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงเครื่องประดับว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าอย่างมากเท่านั้นหรือไม่

“สิทธิที่รับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญจะต้องผูกกันการตีความกฎหมาย การตรากฎหมาย และผูกพันหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้ คือ จะถ่วงดุลการใช้อำนาจนี้อย่างไร”นายไพโรจน์ กล่าว

นักวิชาการ-ภาคประชาชนสางปัญหากฎหมายเข้าชื่อภาคปชช.

นายภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายมีปัญหาสำคัญอย่างน้อย 4 ประการคือ ปัญหาเรื่องระยะเวลา,องค์กรให้ความช่วยเหลือ,เอกสารหลักฐาน,ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและประเด็นปัญหาที่ส.ส.,ส.ว.ไม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการมักจะมีปัญหาอคติของส.ส.,ส.ว. ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเด็นเรื่องการผลักดันให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นตกไป

รศ.วนิดา แสงสารพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นเพียงตัวเสริมในกระบวนการประชาธิปไตย แต่ทัศนคติของนักการเมืองในสภาฯยังเป็นอุปสรรคสำคัญในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน

นางสาวกรนุช แสงแถลง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า พยายามเสนอให้กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่าสภาต้องพิจารณาเสร็จเมื่อใด แต่ก็ถูกโต้แย้งว่าต้องเสนอในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อยู่ในกฎหมายเข้าชื่อนี้ ในการโหวตและการพิจารณาของนักการเมืองในสภา ไม่ใช้ข้อมูลและความเป็นเหตุเป็นผลประกอบการโหวตลงมติ และจากประสบการณ์การเสนอกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา แม้ภาคประชาชนจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในชั้นกรรมาธิการร่วมสองสภา แต่ก็มาจากพื้นฐานแนวคิดที่ว่า การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมเป็นเรื่องของ ส.ส.และส.ว. ไม่ใช่เรื่องของประชาชน อย่างไรก็ตามพบว่า ในชั้นกรรมาธิการร่วมยังมีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายนอกเหนือไปจากประเด็นที่ยังมีความแตกต่างกันด้วย อุปสรรคเหล่านี้เป็นที่มาของการที่ภาคประชาชนใช้วิธีกดดันและเคลื่อนไหวอื่นๆ ท้ายที่สุด ประชาชนจึงต้องใช้วิธีการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ยังมีความรู้ไม่เพียงพอว่ากรณีใดสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้หรือไม่

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านมาประสบความยุ่งยาก ลำบาก ต้องเตรียมการอย่างเข้มข้นเพื่อรับมือกับส.ส.ที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน ซึ่งถึงที่สุดรัฐสภาก็ไม่ใช่ที่พึ่ง เพราะเกิดเผด็จการรัฐสภา ใช้เสียงข้างมากรับหลักการร่างฯฉบับรัฐบาลแต่ไม่ปฏิเสธร่างฯภาคประชาชน โดยเบื้องหลังของการไม่รับหลักการร่างฯดังกล่าว ตนเชื่อว่าน่ามาจากประเด็นเรื่องกรรมาธิการหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นเหตุให้ร่างฯของภาคประชาชนตกไป

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND) อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น 19ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120โทร.0 2502 6000 ต่อ 8405 โทรสาร. 0 2502 6000 ต่อ 8274 E-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version