เช่าซื้อ และธุรกิจหลักทรัพย์ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคตได้เช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนการคาดการณ์ว่า ธนาคารจะได้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรได้ในระยะกลาง อีกทั้งยังสะท้อนความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับความเสียหายที่เกินกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้จากความเสี่ยงในช่วงภาวะถดถอยในอนาคต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคงติดตามความเคลื่อนไหวภายหลังการรวมกิจการ ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรและรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 11 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย ณ สิ้นปี 2555 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.9% และเงินรับฝากที่ 1.6% ธนาคารสามารถบริหารธุรกิจหลักอันประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้เป็นอย่างดีจากการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความเสี่ยงในเรื่องการกระจุกตัวของสินเชื่อ โดยสินเชื่อสำคัญ 2 ประเภทคือ สินเชื่อเช่าซื้อ (76%) และสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย (17%) มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 90% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตในสินเชื่อกลุ่มลูกค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการหลัก ๆ ของธนาคารด้วย โดยสินเชื่อดังกล่าวจัดเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับกลางถึงสูง สินเชื่อของธนาคารมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 21% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นปี 2555 ธนาคารมีสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 169.0 พันล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโต 24.5% โดยมีปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ
ธนาคารประสบความสำเร็จในการรวมกิจการกับบริษัททุนภัทรและบริษัทย่อยคือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ตามแผนกลยุทธ์การเติบโต โดยมีผลเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ทั้งนี้ บล. ภัทรซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัททุนภัทร เป็นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ชั้นนำของไทย บริษัทมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 มากเป็นอันดับ 9 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 33 แห่ง บล. ภัทรมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ส่งผลให้ธนาคารมีศักยภาพทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น และสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ โครงสร้างรายได้ของกลุ่มเกียรตินาคิน-ภัทรยังกระจายตัวได้ดียิ่งขึ้นจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในธุรกิจตลาดทุน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรวมกิจการ ธนาคารยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างองค์กร ทั้งนี้ สถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารในระยะกลางจะดียิ่งขึ้นหากธนาคารประสบความสำเร็จในการผสานความร่วมมือภายในกลุ่ม
ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตด้วยสินทรัพย์คุณภาพดี โดยได้พัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงด้วยการใช้นโยบายสินเชื่อและเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2552-2554 โดยลดลงจาก 5.4 พันล้านบาทในปี 2552 เป็น 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 พันล้านบาทซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2554 แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยลดลงจาก 6.2% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 3.3% ในปี 2555 กระนั้นก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กอื่น ๆ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ไว้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ อัตราส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงจาก 95% ในปี 2552 เหลือ 44% ในปี 2555
สถานะทางการเงินของธนาคารอยู่ในระดับที่ดีขึ้น โดยในปี 2555 ธนาคารมีกำไรสุทธิก่อนหักภาษีจำนวน 4.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากรายได้ของบริษัททุนภัทรและบล. ภัทร อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเท่ากับ1.6% และ 11.8% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.4% และ 9.8% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงจากธุรกิจหลักไว้ได้ แต่ธนาคารยังคงมีต้นทุนทางการเงินที่สูงที่สุดในระบบ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลดลง โดยต้นทุนในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการแข่งขันระดมเงินฝาก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่เรียกเก็บจากเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนถึงความสามารถทางการแข่งขันของธนาคารที่ลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ธนาคารอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงขึ้นเพื่อทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน จะส่งผลให้สถานะความเสี่ยงของธนาคารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ในส่วนของสภาพคล่องและเงินทุนนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งจากความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่จะครบกำหนดภายใน 12 เดือน โครงสร้างเงินทุนของธนาคารเปลี่ยนแปลงไปโดยมีการระดมเงินทุนจากฐานเงินฝากมากขึ้นเนื่องจากการระดมทุนด้วยตั๋วแลกเงินมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความอ่อนไหวและผันผวนได้ง่าย อย่างไรก็ดี ธนาคารมีนโยบายเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น
ฐานเงินทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2555 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 14.01% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมเท่ากับ 14.69% แม้ว่าระดับเงินกองทุนจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2554 (เงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 14.70% และเงินกองทุนรวมเท่ากับ 15.40%) แต่ยังคงสูงกว่าระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.25% และ 8.50% ตามลำดับ อีกทั้งยังคาดว่าเงินกองทุนของธนาคารจะเพียงพอตามเกณฑ์ BASEL III นอกจากนี้ อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 12.8% ในปี 2554 เป็น 14.3% ในปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรวมกิจการกับบริษัททุนภัทร ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย การดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรองรับความเสี่ยงในช่วงภาวะถดถอยจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK142A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,905 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK144A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,485 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 975 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KK18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KK18DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive