เปิด 7 ประเด็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม กทค. เร่งเคลียร์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 3G

พฤหัส ๒๕ เมษายน ๒๐๑๓ ๑๕:๕๕
กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้มีการพิจารณาสัญญาการให้บริการ 3 G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2.1 GHz ทั้ง 3 ราย คือ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บริษัทดีแทค เนทเวอร์ค และบริษัทเรียล ฟิวเจอร์ แต่ กทค. ยังไม่มีมติอนุมัติ โดยมอบหมายให้นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมายและนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไปหารือนอกรอบร่วมกัน

ต่อเรื่องดังกล่าว นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เปิดเผยว่า ปมประเด็นของเรื่องเกิดจากในชั้นกลั่นกรองเรื่อง ตนได้ตั้งประเด็นที่ไม่เห็นชอบกับข้อสัญญาของผู้ให้บริการไว้หลายประการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะ 7 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1. การสร้างภาระผูกพันต่อผู้บริโภคด้วยการเสนออุปกรณ์โทรคมนาคมในราคาถูก ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้เสนออุปกรณ์ได้ แต่ห้ามกำหนดเงื่อนไขให้เกิดภาระแก่ผู้บริโภค หากผู้บริโภคต้องการเลิกสัญญาก่อนกำหนดก็ย่อมทำได้โดยมีหน้าที่ต้องคืนอุปกรณ์ให้บริษัท และถ้าทำอุปกรณ์เสียหายก็ชดใช้ตามราคาตลาด แต่ไม่ต้องเสียเงินค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการไม่ใช้บริการต่อ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสัญญาของบางบริษัทระบุเฉพาะหน้าที่ของผู้บริโภค แต่ไม่บอกว่าบริษัทไม่มีสิทธิผูกมัดผู้บริโภค

2. เรื่องการให้บริการเสริม สัญญาที่บางบริษัทเสนอระบุชัดว่า ผู้ให้บริการจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าบริการแทนผู้ให้บริการเสริมต่างๆ แต่ไม่พูดถึงว่ามีหน้าที่ต้องร่วมกับผู้ให้บริการเสริมในการรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในกรณีเกิดปัญหาด้วย

3. เรื่องการคืนเงินแก่ผู้บริโภคเมื่อมีการเลิกสัญญา ซึ่งบางบริษัทมีการใช้คำว่าจะคืน “เงินสุทธิ” หลังหักค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงขัดกับที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องคืนเต็มจำนวน

4. เรื่องการจำกัดวงเงินใช้บริการ ซึ่งข้อสัญญาที่ผู้ให้บริการเสนอเข้ามามีการระบุว่า ผู้ให้บริการอาจพิจารณาขยายวงเงินนั้นได้เอง โดยผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบในค่าบริการที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งที่ตามกฎหมายกำหนดว่าสัญญาต้องเกิดจากการตกลงของสองฝ่าย หรือที่เรียกว่า “เสนอสนองตรงกัน”

5. เรื่องการเปลี่ยนแปลงสิทธิตามรายการส่งเสริมการขาย หรือสิทธิอื่นๆ ที่ผู้ใช้บริการได้สมัครไว้ โดยข้อสัญญาของบางบริษัทกำหนดว่าเป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่ถูกคือต้องให้ผู้ใช้บริการยินยอมด้วย

6. เรื่องระยะเวลาขั้นสูงในการระงับบริการชั่วคราว ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 3 (4) ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดถึง 6 เดือน แต่สัญญาของ 3 รายที่เสนอมา ส่วนใหญ่เพียงระบุว่าเป็นสิทธิของบริษัทที่จะกำหนดเวลาดังกล่าวโดยจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบภายหลัง และบางรายก็กำหนดให้ขอระงับบริการได้เพียงคราวละ 30 วัน

7. เรื่องการแจ้งรายละเอียดค่าบริการและการใช้บริการ ซึ่งมีสัญญาของบางบริษัทระบุว่าจะแจ้งข้อมูลรายละเอียดการใช้บริการเฉพาะใน “พื้นที่เดียวกัน” รวมทั้งมีการกำหนดว่า หากผู้ใช้บริการต้องการรับรายละเอียดของค่าใช้บริการในรอบนั้นซ้ำอีก ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่บริษัทกำหนด ซึ่งเป็นการเปิดกว้างให้เป็นเรื่องตามอำเภอใจของบริษัทเกินไป

ทั้งนี้ นายประวิทย์ระบุว่า ในเนื้อหาสาระของสัญญาที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายส่งมาให้พิจารณานั้นมีข้อกำหนดทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการรุกล้ำสิทธิของผู้บริโภคหรือบางกรณีก็เป็นการตัดสิทธิและปิดโอกาสในการเลือกของผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ทุกประเด็นเป็นสิ่งที่มีกฎหมายบัญญัติรองรับไว้ ดังนั้นต้องให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายแก้ไขข้อสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายก่อน กทค. จึงจะอนุมัติแบบสัญญาได้

“ทุกประเด็นดูเหมือนเป็นเรื่องรายละเอียด แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า สัญญาให้บริการโทรคมนาคมนั้นเป็นสัญญาสำเร็จรูป ที่ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจมีเงื่อนไขที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของคู่สัญญา โดยเฉพาะทางด้านของผู้บริโภคที่ไม่ได้เป็นฝ่ายออกแบบหรือมีส่วนร่างสัญญาเลย กสทช. จึงต้องดูอย่างละเอียด จะพิจารณาเพียงระดับหลักการไม่ได้ เพราะข้อสัญญาจะมีผลผูกมัดผู้ใช้บริการในระบบ 3G ทั้งหมดต่อไป” นายประวิทย์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการหารือนอกรอบ นายประวิทย์เปิดเผยว่า ในขณะนี้ได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว นั่นคือให้ปรับตามข้อเสนอของตนเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือเพียง 1-2 ประเด็นที่ยังไม่สรุปชี้ชัด แต่รอให้ที่ประชุม กทค. เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ประธาน กทค. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประกาศไว้แล้วว่าจะประชุมพิจารณาแบบสัญญาให้เสร็จสิ้นในวันที่ 29 เมษายนนี้ เพื่อให้การเปิดบริการ 3G เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมได้ตามที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๑๕:๒๐ ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๑๔:๑๗ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๑๔:๔๓ อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ