เปิดประชุมวิจัยระบบสุขภาพ ปี 56 สธ.พร้อมปฏิรูประบบสุขภาพ “ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม”

จันทร์ ๒๙ เมษายน ๒๐๑๓ ๑๗:๑๖
สวรส. เปิดงานประชุมการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2556 “จัดการความรู้ สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ชูประเด็น “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” หมอประดิษฐ เผยยังพบช่องโหว่ระบบหลักประกัน ประกาศเดินหน้า “ปฏิรูประบบสุขภาพ” นโยบายสำคัญแก้วิกฤตความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมเท่าเทียม

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวมอบนโยบายเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” ในงานประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2556 จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นนโยบายด้านระบบสุขภาพของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าตลอด 1 ทศวรรษของการดำเนินนโยบายจะบรรลุเป้าประสงค์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในมิติการเข้าถึงบริการ การลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยสามารถป้องกันการล้มละลายหรือความยากจนลงได้ แต่จากการศึกษาวิจัยของ สวรส. ยังพบปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดอยู่ 3 ประการ คือ

1) ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพ เนื่องจากขาดกลไกกลางในการอภิบาลระบบ ทำให้แต่ละกองทุนมีการออกแบบการบริหารจัดการระบบ การจ่ายค่าบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการให้บริการต่างกัน ส่งผลให้ประชาชนในแต่ละสิทธิได้รับบริการแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับยา หรือหัตถการ 2) ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่จากปัญหาด้านการกระจายทรัพยากรและความพร้อมของระบบบริการในพื้นที่ระหว่างจังหวัดและเขตต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความแตกต่างในการได้รับบริการ รวมถึงประสิทธิผลของการให้บริการ และ 3) การขาดประสิทธิภาพการจัดบริการ การใช้ทรัพยากร และการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากการใช้ยาต้นแบบหรือยานอกบัญชียาหลัก

“รัฐบาลมุ่งที่จะสร้างความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการก้าวเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 2 ของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงได้วางกรอบแนวคิดหลักในการปฏิรูประบบสุขภาพให้มีกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพระดับชาติที่เป็นเอกภาพและมีธรรมาภิบาล เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนากฎ กติกา และมาตรฐานต่างๆของระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการปฏิรูป โดยให้มีกลไกกลางระดับชาติในการกำหนดนโยบายระบบสุขภาพ ระบบการคลังและประกันสุขภาพ การแยกบทบาทการให้บริการให้มีช่วงห่างจากบทบาทในการกำหนดนโยบายและกำกับติดตามเพื่อลด conflict of interest ของกระทรวงฯ รวมถึงการบูรณาการการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของ 3 กองทุน ให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ ซึ่งรัฐบาล และ สธ. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนโดยการออกแบบระบบประกันสุขภาพให้มีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานและมีระบบมาตรฐานเดียวกัน และได้เริ่มนำร่องบูรณาการการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพเฉพาะบริการ เช่น ระบบบริการและชดเชยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 1 เม.ย.55 ระบบการจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 ต.ค.55 เป็นต้นมา และขณะนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์เพื่อให้บริการเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกกองทุน ซึ่งจะทำให้ผู้มีสิทธิในทุกกองทุนสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน ทั้งหมดนี้ภายใต้แนวคิดการดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพและความยั่งยืน” นพ.ประดิษฐ กล่าว

ทางด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมของระบบประกันสุขภาพไทยแก่ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบายและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนเปิดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้มีการวิจัยระบบสุขภาพในด้านนี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบสุขภาพไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่น้อย ในขณะที่การศึกษาเพื่อพัฒนาและเวทีแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

สำหรับการเปิดเวทีในวันแรกมีการนำเสนอเรื่อง “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” เผยข้อมูลเชิงประจักษ์ “ความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพไทย” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งงานวิจัยในหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ภายหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในชนบทและประชาชนในภาคอีสานได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ดียังคงพบว่ามีความแตกต่างของการได้รับบริการระหว่างกองทุนสุขภาพ และระหว่างพื้นที่ต่างๆ

รวมถึงเวทีเสนอผลการประเมินนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของ 3 กองทุนประกันสุขภาพ” ที่รัฐบาลประกาศดีเดย์และดำเนินการมาจนครบ 1 ปี ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของระบบบริการฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ที่แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับเสียงตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังมีข้อจำกัดที่ต้องพัฒนา จากการศึกษาปรากฏข้อค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าสนใจ อาทิ ความไม่ชัดเจนในนิยามของคำว่า "ฉุกเฉิน" ความไม่เข้าใจจากการเรียกเก็บส่วนต่างจากคนไข้ เป็นต้น ข้อเสนอสำคัญจากงานวิจัยต่อนโยบายนี้จะเป็นเข็มทิศแนะการพัฒนาให้นโยบายสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ