นายเดวิด เกลดฮิล กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีและการดำเนินงาน ธนาคารดีบีเอส กล่าวว่า “เราให้บริการลูกค้ามากกว่า 4 ล้านรายในสิงคโปร์ และเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราที่จะต้องสร้างประสบการณ์การให้บริการที่สามารถครองใจลูกค้าได้ครอบคลุมทุกบริการทั้งหมดที่เรามีอยู่ และตู้เอทีเอ็มของธนาคารดีบีเอสถือเป็นจุดให้บริการที่มีอัตราการใช้งานสูงที่สุดในโลกอีกจุดหนึ่ง และทุกครั้งที่มีการหยุดให้บริการของตู้เอทีเอ็มหนึ่งเครื่อง นั่นหมายถึงความไม่สะดวกที่มีต่อลูกค้าของเรา ดังนั้น เราจึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของเครือข่ายตู้เอทีเอ็มและขั้นตอนการดำเนินงานของเราอย่างต่อเนื่อง ธนาคารดีบีเอสจึงได้วิเคราะห์ข้อมูลการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มแต่ละตู้เพื่อคาดการณ์ถึงธุรกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยเป้าหมายของธนาคารคือ การมีเงินสดในตู้เอทีเอ็มแต่ละตู้ที่เพียงพอเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินหมดตู้ และลูกค้าจะได้ไม่ต้องเดินออกไปหาตู้เอทีเอ็มอื่นๆ แทน”
นายเกลดฮิล กล่าวเพิ่มเติมว่า “ก่อนหน้านี้ตู้เอทีเอ็มมักจะประสบปัญหาเงินสดหมดตู้ก่อนที่จะถึงกำหนดการเติมเงิน หรือเจ้าหน้าที่ของธนาคารจะต้องขับรถออกไปเติมเงินให้กับตู้เอทีเอ็มบางจุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการใช้บริการสูงสุด เช่น ในช่วงเวลาเที่ยงของแหล่งธุรกิจ”
เงินสดหมดตู้ลดลงถึง 80%
ด้วยโซลูชั่น SAS Analytics และความมุ่งมั่นในการนำเสนอบริการที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้า ธนาคารดีบีเอสจึงได้เดินหน้าปรับปรุงการดำเนินงานของเครือข่ายตู้เอทีเอ็มที่มีอยู่ทั้งสิ้นกว่า 1,100 ตู้ในสิงคโปร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และได้ผลลัพธ์ดังนี้
- กรณีเงินสดหมดตู้ (เช่น ตู้เอทีเอ็มเปล่า) ลดลงมากกว่า 80%
- ลูกค้าที่ต้องคอยระหว่างการเติมเงินสดให้กับตู้เอทีเอ็มกว่า 30,000 ชั่วโมงต่อปี หมดไป
- จำนวนครั้งในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อไปเติมเงินให้กับเครือข่ายของตู้เอทีเอ็มลดลง 20%
- จำนวนเงินสดที่เหลือกลับคืนไปยังธนาคารลดลงมากกว่า 40%
- ตู้เอทีเอ็มกว่า 1,100 ตู้สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่
- ลูกค้า 4 ล้านรายเกิดความสะดวกในการใช้บริการตู้เอทีเอ็ม
นวัตกรรมที่เกิดจากการท้าทาย
ทั้งนี้ ธนาคารดีบีเอสได้ร่วมมือกับบริษัท แซส ในการพัฒนาและปรับใช้โซลูชั่นเชิงนวัตกรรมที่ได้ผสานรวมแนวคิดด้านการดำเนินงานที่แตกต่างกันของอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ รวมทั้งเทคนิคการวิจัยเพื่อดำเนินงาน เช่น การคาดการณ์ การปรับใช้งานให้เหมาะสม และทฤษฎีการเข้าคิว (Queuing Theory) เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการเติมเงินตู้เอทีเอ็ม โดยความสำเร็จของการปรับใช้งานโซลูชั่นนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐาน 2 ประการ คือประการแรก คือการได้รับการคาดการณ์ที่ถูกต้อง และประการที่สอง คือการพัฒนาและดำเนินการปรับใช้งานโมเดลที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังได้สร้างสูตรการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วยการนำเอาระบบอัจฉริยะมาปรับใช้กับขั้นตอนการดำเนินงานในปัจจุบัน ตลอดจนปรับเปลี่ยนเป้าหมายจากมาตรการตั้งรับไปเป็นการสร้างโมเดลป้องกันปัญหาต่างๆ โดยใช้วิธีการคาดการณ์เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้บริการโดยรวมได้อย่างชัดเจน
นายนิมิช ปัญชมาเทีย รองประธานอาวุโสฝ่ายดูแลช่องทางธนาคารแบบบริการตนเอง ธนาคารดีบีเอส และเป็นผู้นำในโครงการนี้ กล่าวว่า “เราประเมินรูปแบบการถอนเงินของลูกค้าซึ่งครอบคลุมตู้เอทีเอ็มแต่ละตู้ภายในเครือข่ายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการใช้การคาดการณ์เหล่านี้ ทำให้เราสามารถสร้างตารางเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อช่วยลดปัญหาเงินสดหมดตู้ ลดการเดินทางของเจ้าหน้าที่เพื่อไปเติมเงินให้น้อยที่สุด และลดค่าใช้จ่ายในการเติมเงินตู้เอทีเอ็ม โดยทั้งหมดนี้สามารถดำเนินงานได้จริงและมีประสิทธิภาพสูง”
เครือข่ายทรงประสิทธิภาพ
จากการคาดการณ์ที่แม่นยำเกี่ยวกับรูปแบบการถอนเงินตู้เอทีเอ็มแต่ละตู้ ผลลัพธ์ที่ได้จากการคาดการณ์นำมาเป็นข้อมูลอินพุตซึ่งช่วยระบุเวลาที่ตู้เอทีเอ็มมีแนวโน้มว่าเงินจะหมดตู้ ทำให้ธนาคารพัฒนาโมเดลในการสร้างตารางเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปเติมเงินตู้เอทีเอ็มในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแผนปฏิบัติการรายวัน
รายสัปดาห์ และรายเดือน ซึ่งช่วยลดจำนวนครั้งในการเดินทางไปเติมเงินตู้เอทีเอ็ม และขณะเดียวกันยังช่วยลดจำนวนเงินสดที่ต้องนำกลับมายังธนาคารจากการเติมเงินในตู้เอทีเอ็มแต่ละตู้ (เงินที่ยังค้างอยู่ในตู้เอทีเอ็มก่อนเติมเงินใหม่)
นายเกลดฮิล กล่าวว่า “การใช้โซลูชั่นเชิงนวัตกรรมด้านการวิเคราะห์นี้ (ถือเป็นที่แรกในแวดวงการธนาคาร) ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในการวิเคราะห์ธุรกิจของเราที่ช่วยเสริมกระบวนการทางธุรกิจให้เข้มแข็ง การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และทำให้เป็นบริการที่ดีเยี่ยมสำหรับลูกค้า"
ปัจจุบันธนาคารดีบีเอสยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างเฟรมเวิร์กด้านการวิเคราะห์ที่ดีเยี่ยมและมีประสิทธิภาพสูงภายในองค์กร และในขณะนี้ โซลูชั่นของแซสถูกนำไปปรับใช้กับแผนกต่างๆ ครอบคลุมทั้งองค์กรเพื่อช่วยในการจัดเตรียมการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแบบเรียลไทม์ รวมถึงการวิเคราะห์ด้านเครดิตและการดำเนินงาน นอกจากนี้ ความสามารถในการปรับขยายได้ของระบบยังช่วยให้ธนาคารดีบีเอสสามารถปรับกลยุทธ์การให้บริการชั้นเยี่ยมแก่ลูกค้าที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะสถาบันทางการเงินชั้นนำในภูมิภาคเอเชียได้เป็นผลสำเร็จอีกด้วย
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงการใช้โซลูชั่นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตู้เอทีเอ็มว่า “การใช้ SAS? Forecast Server และ SAS/OR? (Operations Research) สามารถช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มที่เงินสดจะหมดตู้เอทีเอ็ม ช่วงระยะเวลาของตู้เอทีเอ็มที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากหรือน้อย ทำให้สามารถวางแผนเรื่องของค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการ ระยะเวลาและจำนวนพนักงานเพื่อนำเงินสดไปเติมที่ตู้เอทีเอ็มได้ สำหรับในประเทศไทยมีธนาคารหลายแห่งให้ความสนใจในการใช้บริการโซลูชั่น SAS Analytics เพื่อช่วยในการวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตู้เอทีเอ็ม ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และทำให้เงินสดไม่หมดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งช่วยสร้างความพึงพอใจในการใช้บริการตู้เอทีเอ็มของลูกค้าจำนวนมาก”
เกี่ยวกับธนาคารดีบีเอส
ธนาคารดีบีเอสมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ธนาคารดีบีเอสเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์และเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ห้าอันดับแรกของฮ่องกงโดยวัดจากมูลค่าสินทรัพย์ที่มี รวมทั้งความโดดเด่นในด้านการให้บริการธนาคารเพื่อผู้บริโภค การคลังและตลาด หลักทรัพย์ โบรกเกอร์ หุ้น และการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ นอกจากตลาดหลักในสิงคโปร์และฮ่องกงแล้ว ธนาคารดีบีเอสยังให้บริการลูกค้าองค์กร สถาบัน และธุรกิจค้าปลีกผ่านทางสำนักงานในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ จากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ธนาคารดีบีเอสติดอันดับในกลุ่มธนาคารที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เกี่ยวกับบริษัท แซส
บริษัท แซส เป็นผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์และบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) ด้วยโซลูชั่นเชิงนวัตกรรมที่ให้ลูกค้าในรูปของ Integrated Framework ทำให้บริษัท แซส สามารถช่วยลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าผ่านการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีและรวดเร็วขึ้น สำหรับจำนวนลูกค้าที่ได้นำโซลูชั่นของแซสไปใช้แล้วนั้นมีมากกว่า 60,000 แห่งทั่วโลก และนับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา แซสเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นในการเป็น "พลังแห่งการรอบรู้" (The Power to Know?) สำหรับลูกค้าทั่วโลก