นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการเฝ้าระวังคุณภาพสมุนไพรไทยโดยสถาบันวิจัยสมุนไพร ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาด้านคุณภาพของสมุนไพรไม่ผ่านเกณฑ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ สารหนู โลหะหนัก และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งความไม่สม่ำเสมอของคุณภาพทางเคมี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการออกฤทธิ์ทางยา นอกจากนี้การขาดองค์ความรู้ในการเลือกแหล่งผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ และกระบวนการผลิตยาสมุนไพรที่ดี ทำให้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้อยคุณภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรไทย” ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงสร้างความเข้มแข็งในเวทีการค้า
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดอบรมเพื่อยกระดับคุณภาพสมุนไพรไทยมีการบรรยายและอภิปรายที่น่าสนใจ เช่น “การยกระดับคุณภาพสมุนไพรไทยสู่สากล” “ทิศทางในการพัฒนาและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร” เป็นต้น ทั้งหมดจะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านสมุนไพร กว่า 200 คน ในการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรไทยให้ได้ระดับมาตรฐาน มีความพร้อมในการแข่งขันและส่งออกสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ยังได้มอบโล่รางวัล “คุณภาพสมุนไพรไทย” ให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่ได้รับใบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรอง “คุณภาพสมุนไพรไทย ระดับทอง” ที่เข้าร่วมโครงการคุณภาพสมุนไพรไทย ปีงบประมาณ 2555 อีกจำนวน 26 หน่วยงาน
นางณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2556โครงการคุณภาพสมุนไพรไทยได้ขยายขอบข่ายให้การตรวจรับรองคุณภาพสมุนไพรไทย โดยประเภทที่ 1 จำนวน 32 ชนิด ได้แก่ กระชาย กระชายดำ กะเพราแดง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ข่า ขิง ช้าพลู ชุมเห็ดเทศ ดีปลี ตานหม่อน เถาวัลย์เปรียง เทียนขาว เทียนแดง เทียนดำ เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี บอระเพ็ด บัวบก ปัญจขันธ์ พญายอ พริกไทย ไพล ฟ้าทะลายโจร มะกรูด มะขามแขก มะขามป้อม มะแว้งเครือ สมอพิเภก สมอไทย สวาด และหญ้าหนวดแมว ซึ่งผู้ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจวิเคราะห์จะได้รับใบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรอง “คุณภาพสมุนไพรไทย ระดับทอง” และได้รับโล่รางวัล “คุณภาพสมุนไพรไทย” ส่วนประเภทที่ 2 แบ่งเป็นประเภทสมุนไพรเดี่ยว จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง ผักคาวตอง เพชรสังฆาต รางจืด และหม่อน และประเภทยาตำรับที่อยู่ในบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา(ฉบับที่ 5)พ.ศ.2549 เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2547 (ฉบับที่ 4) จำนวน 11 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาธาตุบรรจบ ยาประสะไพล ยาจันทร์ลีลา ยาหอมนวโกฐ ยาประสะกานพลู ยาแก้ไข้ห้าราก ยาประสะมะแว้ง ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาเหลืองปิดสมุทร และยาเขียวหอม ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจวิเคราะห์ประเภทที่ 2 จะได้รับใบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรอง “คุณภาพสมุนไพรไทย ระดับเงิน” โดยใบประกาศนียบัตรดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการสุ่มตรวจอีกครั้ง หากพบว่าวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์มีอันตรายต่อสุขภาพ จะแจ้งให้มีการแก้ไข หากเพิกเฉยจะถอนใบประกาศนียบัตรฯทันที สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการคุณภาพสมุนไพร ปี 2556 สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99466-7 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค.56