ปัญญาสมาพันธ์ฯ เผยผลวิจัย แรงงานสตรีทวีบทบาทสำคัญในโลกเศรษฐกิจ

พฤหัส ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๐:๐๙
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย เผยผลวิจัยบทบาทสตรี ทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของครอบครัวแทนแรงงานชาย เทียบกรณีศึกษาญี่ปุ่นและสิงคโปร์ สะท้อนอดีตและอนาคตสังคมไทย

ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะทำงานปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยฯ เปิดเผยผลการศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานสตรีด้านการมีบทบาทเชิงเศรษฐกิจของครอบครัวแทนที่แรงงานชายในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ในงานวิจัยหัวข้อ แรงงานสตรีกับบทบาทหลักเชิงเศรษฐกิจของครอบครัว: กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ พบว่า ในอดีตผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่นมีบทบาทในการดูแลครอบครัว งานบ้าน และเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับครอบครัวคนไทยในอดีต ที่ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ส่วนผู้ชายเป็นผู้นำ มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว

“แต่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาปริมาณการเกิดที่ต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของครอบครัว อาทิ ครัวเรือนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและครัวเรือนผู้สูงอายุมากขึ้น คู่แต่งงานจำนวนมากไม่นิยมมีบุตร สังคมญี่ปุ่นค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทจากการหาเลี้ยงครอบครัวโดยสามีคนเดียวมาสู่การหาเลี้ยงครอบครัวโดยทั้งภรรยาและสามีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอาชีพที่เคยถูกครอบครองโดยเพศชาย มีการเพิ่มจำนวนแรงงานผู้หญิงมากขึ้นในสาขาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังพบว่า มีจำนวนแรงงานผู้หญิงในตลาดแรงงานในงานประเภทเต็มเวลา น้อยกว่าชายมาก” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญมาจากระบบคิดและวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงาน ไม่ใช่ผลผลิตจากการทำงาน เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานหรือแต่งงาน แต่ไม่มีบุตร จะสามารถทัดเทียมกับแรงงานชายได้ แต่กับแรงงานผู้หญิงที่มีบุตร เงื่อนไขนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดในทันที ซึ่งกรณีนี้เหมือนกันสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ผู้หญิงมีบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัวมากขึ้น แต่ยังรับภาระในการดูแลครอบครัวอยู่เช่นเดิม

ผศ.ดร.วิมลทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า ในทางกลับกัน ประเทศสิงคโปร์ ผู้หญิงมีบทบาทชัดเจนเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างสำคัญ การที่ประเทศมีประชากรน้อยมาก ประกอบกับคุณภาพการศึกษาที่สูง และเป็นสังคมที่แข่งขันกันที่ความสามารถของคนไม่ใช่เพศ ทำให้ผู้หญิงสิงคโปร์มีโอกาสการทำงานที่ดีทัดเทียมชาย แม้ว่าผู้หญิงสิงคโปร์จะเผชิญเงื่อนไขเช่นเดียวกับผู้หญิงญี่ปุ่นในแง่ของการคลอดบุตร แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นกลับเข้ามาสู่ระบบการทำงานยากมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ โดยที่เงื่อนไขสำคัญที่แรงงานผู้หญิงสิงคโปร์ที่มีบุตรกลับเข้าสู่ระบบการทำงานง่ายกว่าแรงงานผู้หญิงญี่ปุ่น ก็เพราะประชากรสิงคโปร์น้อยมาก ทำให้ประเทศต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากตลอดเวลา อีกทั้งคุณภาพการศึกษาที่ดีเยี่ยม ทำให้คนสิงคโปร์เป็นที่ต้องการทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้การมีศูนย์เด็กเล็กกว่า 20,000 แห่ง ทั่วประเทศมากกว่าญี่ปุ่นที่มีอยู่เพียง 8,000 แห่ง ทำให้แม่สิงคโปร์วางใจได้ในด้านการดูแลบุตรเล็กๆ ขณะที่ตนออกไปทำงานนอกบ้าน ประกอบกับสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาททางเพศที่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในการช่วยกันเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่เจริญแล้วและขาดแคลนแรงงานอย่างสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับแรงงานสตรี มีศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพจำนวนมาก เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้หญิงในบทบาทของแม่บ้าน ทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาททางเพศที่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในการช่วยกันเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้แรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

ผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้ายว่าการวิจัย โครงการ แรงงานสตรีกับบทบาทหลักเชิงเศรษฐกิจของครอบครัว: กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ฉบับนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือ ก้าวสู่ยุคอาศัยแรงงานผู้หญิงในทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องการให้เด็กไทยได้รับการดูแล และ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ภาครัฐหรือภาคสังคมที่เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมพร้อมอย่างไร

ข้อมูลเกี่ยวกับปัญญาสมาพันธ์

ปัญญาสมาพันธ์ เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุน ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย เพื่อทำการศึกษาวิจัยและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยที่มุ่งเน้นการนำไปขยายผลเพื่อการสร้างสรรค์สังคมไทย ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม