นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า โดยภาพรวมหลังนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลสิ้นสุดลงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในปีนี้มีทิศทางที่หดตัวลง แต่ยอดขายรถยนต์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมายังคงทำตัวเลขได้ถึง 156,951 คัน เป็นการส่งสัญญาณว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2556 นี้ อาจจะไม่แย่ลงมากอย่างที่หลายฝ่ายกำลังตื่นตระหนก อีกทั้งยังมีการเปิดตัวรถยนต์ของหลายค่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศให้ขยายตัวได้เป็นอย่างดี
จากตัวเลขยอดขายรถยนต์รถยนต์ที่ยังคงมีแนวโน้มดี ส่งผลให้บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในไตรมาสแรกปี 56 ได้ถึง 21,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว 3,590 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.49% แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ 9,077 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสแรกปีก่อน 398 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.58% และเป็นสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) 12,032 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าไตรมาสแรกปีก่อน 3,192 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36.1% และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 23.4%
ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบ (Outstanding Loan) ของบริษัท อยู่ที่ 84,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,505 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2555 โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 0.79% ต่ำกว่ายอด NPL ไตรมาสแรกปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 0.97% และต่ำกว่า NPL เป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ระดับ 0.81% ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2556 ของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย มีกำไร 123 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 43.70%
ด้านนายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาสแรกของปี สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่มีจำนวนถึง 412,680 คัน โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 จะมีการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรกได้เกือบทั้งหมด ทำให้ยอดขายส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ในปีนี้ จะเกิดขึ้นภายในครึ่งแรกของปี ขณะที่ยอดขายรวมในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคัน ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบสถาบันการเงินในปี 2556 จะขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลงเป็นประมาณ 20-25% เทียบกับอัตราการขยายตัว 34% ในปี 2555 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวราว 27-33%
เหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่างเตรียมรับมือกับภาวะสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะปรากฏชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ทั้งปัจจัยจากการส่งมอบรถยนต์ที่ชะลอตัว และจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องขยายขอบเขตธุรกิจไปยังตลาดใหม่ อาทิ ตลาดสินเชื่อรถแลกเงิน และการรุกขยายสินเชื่อรถยนต์เฉพาะประเภทมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายอื่น ต่างขยายตลาดของตนให้กว้างขึ้น ทั้งด้านเครือข่ายบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัด และด้วยการรุกตลาดประเภทอื่น เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อรถมือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ แรงหนุนในตลาดจะมาจากการที่ผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่างทยอยเข้าสู่ตลาดสินเชื่อรถแลกเงินเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงมีส่วนช่วยพยุงความสามารถในการทำกำไรให้กับธุรกิจได้ ในภาวะที่การแข่งขันในตลาดเช่าซื้อรถใหม่รุนแรง อีกทั้งปัจจุบันทิศทางความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคในกลุ่มครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโอกาสที่จะขยายตลาดสินเชื่อประเภทนี้ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลโดยทั่วไป