นางสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ของรพ.จุฬารัตน์นั้น ได้กำหนดราคาขายที่ 6.30 บาท หลังจากการสำรวจความต้องการจากนักลงทุนสถาบัน (บุ้คบิ้ว) และการนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) ซึ่งมียอดจองเกินกว่า 10 เท่า โดยมี P/E ของบริษัทฯ อยู่ที่ 17 เท่า ในขณะที่ P/E กลุ่มอยู่ที่ 27 เท่า
โดยมีบล.ธนชาต เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย พร้อมด้วยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย
“สำหรับราคาที่ 6.30 บาทนั้น ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจากบริษัทฯ มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งรวมถึงฐานะทางการเงินที่ดี อีกทั้งการเติบโตและการขยายตัวของโรงพยาบาลในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งยังมีช่องทางในการขยายตัวอีกมาก อีกทั้งหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลถือเป็นหุ้นที่น่าจับตามองหากเทียบจากช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ประกอบกับหุ้นไอพีโอในช่วงนี้มีความคึกคักและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันเป็นอย่างมาก ดังนั้น อาจถือได้ว่าหุ้นจุฬารัตน์เป็นหุ้นไอพีโอน้องใหม่ไฟแรงอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ”
สำหรับการขายหุ้นไอพีโอนั้น บริษัทฯ เสนอขายหุ้น จำนวน 220,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราหุ้นไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท โดยสัดส่วนการกระจายหุ้นนั้นคาดว่าจะกระจายสัดส่วนให้ทั้งนักลงทุนทั่วไป 40% และนักลงทุนสถาบัน 60% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดจองซื้อได้ในเร็วๆนี้
นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับราคาขายหุ้นไอพีโอที่ราคา 6.30 บาทนั้น บริษัทฯ ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการเติบโตที่ต่อเนื่อง และบริษัทฯ คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน
อย่างไรก็ดี ในส่วนของเม็ดเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำมาเพิ่มศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 และรองรับการเพิ่มศูนย์การให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านม ทางเดินอาหารและคลินิกเด็กและพัฒนาการ เป็นต้น