ในส่วนของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Number Portability) หรือ การเปลี่ยนผู้ใช้บริการโดยใช้เลขหมายโทรศัพท์เดิม กทค. ได้ขอข้อมูลและความเห็นของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลี่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ปัจจุบันมีความต้องการใช้บริการอยู่ประมาณ 3,000 รายต่อวัน โดยมีขีดความสามารถสูงสุดในการให้บริการยู่ที่ 40,000 เลขหมายต่อวัน กรณีที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต กทค. ได้ให้ขยายขีดความสามารถให้ได้ตามความต้องการใช้บริการจริง ทั้งนี้ สิ่งที่ กทค. คำนึงถึงมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ กทค. มุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภค ต้องการให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกที่จะใช้บริการ ในส่วนของการเปิดให้บริการผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีแผนเปิดให้บริการในวันที่ 7, 8, 9 ตามลำดับ สำหรับเรื่องอัตราค่าเชื่องต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge) หรือ ค่า IC เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ได้ค่า IC ที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้มีการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยรวม
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช./กทค. ด้านกฎหมาย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ว่า กทค. ให้ความสำคัญกับแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผน CSR มาก เพราะหากผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดีว่าไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การดำเนินการต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น นอกจากนั้น ได้ให้ผู้ประกอบการหาวิธีที่จะทำให้ผู้ใช้บริการที่สมัครใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz (3G ใหม่) รู้ว่าเขาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ใหม่อยู่ ตามที่ต้องการใช้ สำหรับการกำหนดอัตราค่าบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่จะต้องมีการปรับลดลงตามที่ กทค. กำหนดนั้น ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการนำโปรโมชั่นเดิมที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากมาใช้ในการให้บริการ 3G ใหม่ เท่าที่จะสามารถทำได้ ประชาชนจะได้เห็นชัดเจนว่า อัตราค่าบริการมันลดลง
สำหรับเรื่องคุณภาพของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G หรือ 3G เดิม เมื่อบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เปิดให้บริการ คุณภาพของสัญญาณน่าจะดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการประเภทข้อมูลที่ใช้บริการรวมอยู่บนเครือข่าย 2G เดิม จะย้ายไปใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งจะทำให้ความแออัดของการใช้ช่องสัญญาณลดลง และประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลในเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเรื่องการยืนยันความเป็นเจ้าของเลขหมาย หรือการตรวจสอบสถานภาพและเงื่อนไข จะมีปัญหาในแง่กฎหมายหรือไม่ถ้าใช้ช่องทางยืนยันในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นั้น จากการตรวจสอบพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 และประกาศที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายกฎหมายแล้วยืนยันว่าสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ นอกจากนั้น กรณีการเพิ่มศักยภาพของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนั้นน่าจะใช้เวลาไม่นาน และทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก