สบร. จับมือสถาบันสิ่งทอฯ กรมหม่อนไหม ดันโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” เตรียมพลิกโฉมไหมไทยสู่สากล

พฤหัส ๐๙ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๑:๒๐
- สบร. สถาบันสิ่งทอฯ กรมหม่อนไหม ชูโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” ปรับโครงสร้างเส้นใยไหมด้วยนวัตกรรม ผสานการออกแบบโดยดีไซน์เนอร์อิตาลี พร้อมชวนผู้ประกอบการเข้าร่วม นำร่องผลิตต้นแบบ 3คอลเลคชั่น 15 ผลิตภัณฑ์ไหมอินเทรนด์ วาง 3 กลุยทธ์ พุ่งเป้าสร้างมิติใหม่ไหมไทยแข่งไหมทั่วโลก

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย ตั้งต้นพัฒนาเส้นใยใส่นวัตกรรม สู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ รูปแบบ คุณภาพ ผ้าไหมไทย ให้สามารถใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส นำร่องผลิต 3 คอลเลคชั่นรวม 15 ผลิตภัณฑ์ มุ่งสู่ตลาดการค้าอย่างเต็มรูปแบบและมุ่งสู่ตลาดสากล โดยโครงการฯ ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก นางออร์เนลล่า บิกนามิ ดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวอิตาลี และ นายดาร์เนียลอะลิเวอร์ติ วิศวกรการออกแบบนวัตกรรมสิ่งทอ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแบรนด์ดังระดับโลก รวมถึงได้รับความร่วมมือจากคณะที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ด้านการตลาดและอุตสาหกรรมแฟชั่นจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมหม่อนไหม บ.การบินไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ สมาคมไหมไทย โดยอุตสาหกรรรมไหมไทยมีมูลค่าการส่งออก 18.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2012 ลดลง ร้อยละ 16.16 เมื่อเทียบกับปี 2011 โดยส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 57.04 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไหมทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ส่งออกไปมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ด้านการนำเข้าในปี 2012 มีมูลค่า 20.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2011 ร้อยละ 23.45 ส่วนใหญ่นำเข้าเครื่องนุ่งห่ม รองลงมาคือเส้นด้ายสัดส่วนร้อยละ 41.82 และ 31.54 ตามลำดับ ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไหมทั้งหมด โดยนำเข้าจากประเทศจีนมากที่สุด อย่างไรก็ตามทั้ง 3 หน่วยงานได้ลงนามความร่วมมือ กิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย พร้อมจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ “ไหมไทยยุคใหม่...ปรับอัตลักษณ์อย่างไร...สู่สากล” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องสุรศักดิ์บอลรูม โรงแรมอีสตินแกรนด์สาทร กรุงเทพฯ

นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. (OKMD)กล่าวว่า OKMD เล็งเห็นถึงศักยภาพผ้าไหมไทย ตลอดจนโอกาสในการสร้างสรรค์องค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อการต่อยอดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เติบโตและมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมหม่อนไหม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผลิตภัณฑ์ไหม ดำเนินโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” กิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย โดยมีกรอบเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2556 คือ มุ่งศึกษาวิจัย ในปี 2557 มุ่งสร้างนวัตกรรมอัตลักษณ์เพื่อแข่งขันได้ในเชิงพานิชย์ และปี 2558 มุ่งกระจายองค์ความรู้สู่กลุ่ม SMEs และประชาชนทั่วไป ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม รับบทบาทในการดำเนินงานโดยมี กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ปรึกษา รวมถึงยังมีคณะที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ด้านการตลาดและอุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิ นางอรทัย ศิลปะนภาพร รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.การบินไทย จำกัด (มหาชน) นางปิยวราทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นายพลพัฒน์อัศวะประภา นายกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ อาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ นายกสมาคมไหมไทย ผศ.ดร.ขจีจรัส ภิรมย์ธรรมศิริ ที่ปรึกษา สบร.

ด้าน นางอรทัย ศิลปะนภาพร รองอธิบดี กรมหม่อนไหม กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ทอจากเส้นไหมซึ่งเป็นใยธรรมชาติที่แข็งแรงที่สุด มีความมันวาว ดูแล้วสวยงามแตกต่างจากผ้าที่ทอด้วยเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทย และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจการผลิตผ้าไหมไทยเป็นการแสดงออกถึงศิลปะพื้นบ้าน และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ทอในแต่ละภูมิภาค จะมีเอกลักษณะเฉพาะของตนเอง ทำให้ผ้าไหมไทยมีความหลากหลายในตัวเอง ทั้งทางด้านกรรมวิธีการทอลวดลายและรูปแบบของผ้าซึ่งเอกลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้ สามารถใช้เป็นตัวกำหนดถึงแหล่งของการผลิตได้ โดยสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ้าไหมไทย ได้แบ่งผ้าไหมเป็น 4 ชนิด คือ อาทิผ้าไหมไทยชนิดบางมาก ผ้าไหมไทยชนิดบาง ผ้าไหมไทยชนิดหนา ผ้าไหมไทยชนิดหนามาก ซึ่งทางกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีโครงการในการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผ้าไหมไทย อาทิ โครงการตรานกยูง โครงการในพระราชดำริฯ เป็นต้น และยินดีที่ทางสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และ สถาบันพัฒนาอุตสากรรมสิ่งทอ ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการ กิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย หรือ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” เพื่อพัฒนาผ้าไหมไทยให้มีความทันสมัยและแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งมีประโยชน์ในวงกว้าง

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่าโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” เป็นโครงการกิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ OTOP โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต OTOP ที่ผลิตไหมไทยให้ได้เรียนรู้ เข้าใจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ รูปแบบ คุณภาพ ผ้าไหมไทย สู่การเป็นผ้าที่ใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส โดยมีแนวทางการดำเนินงานคือ

1.วิจัยอัตลักษณ์ไหมไทย สร้างความเข้าใจ การรับรู้ การยอมรับในคุณสมบัติของไหมไทยแก่นักออกแบบไทยและสากล รวมทั้ง วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคและการรับรู้คุณสมบัติไหมไทยของผู้บริโภคไทย เปรียบเทียบภูมิปัญญาไทยกับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบไหม กระบวนการผลิต และเทคนิคการผลิต ในกลุ่มเป้าหมายทั้งกลุ่มผู้ที่ไม่ใช้ผ้าไหม (Non-user) กลุ่มผู้ใช้ผ้าไหม (User) และกลุ่มผู้ใช้ในเชิงพานิชย์ (Commercial -user)

2. จัดทำคู่มือแนวโน้มการออกแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk Design Brief) ซึ่งเนื้อหาภายในเล่มจะบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ไหมไทย แนวทาง กระบวนการและข้อจำกัดของออกแบบ รวมทั้งคุณสมบัติที่สำคัญของไหมไทย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้สนใจ

3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบโดยร่วมกับผู้ประกอบการหรือนักออกแบบผ้าไหม ให้สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่น โดยเฉพาะฤดูกาล Spring/Summer 2015 ที่กำลังจะมาถึง นำร่องผลิต 3 คอลเลคชั่น รวม 15 นวัตกรรมผ้าไหม เพื่อเปลี่ยนโฉมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยให้อินเทรนด์ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาต้นแบบขึ้นมาจะอยู่ใน 3 กลุ่มนี้ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 เคหะสิ่งทอ (Home textiles) ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เป็นสิ่งทอที่ใช้เป็นส่วนประกอบผ้าที่ใช้ใน การตกแต่งภายใน และคลุมหรือปูพื้น โดยนิยมใช้ทั้งการตกแต่งอาคารบ้านเรือนทั่วไป

กลุ่มที่ 2 เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับชายและหญิง (Men and Women Clothing) เช่น เสื้อสูทบุรุษและสตรี เสื้อ กระโปรง กางกาง เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 สิ่งทอประดับและตกแต่ง (Accessories) เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า เป็นต้น เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าที่ใช้กับเทคโลยีสมัยใหม่ เช่น กระเป๋า รองเท้า หมวก ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ถุงผ้า เป็นต้น

ซึ่งการปรับอัตลักษณ์ผ้าไหมไทยครั้งนี้ ถือเป็นเปลี่ยนแปลงโฉมครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย เพราะโครงการไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นการพัฒนาการออกแบบการตัดเย็บ ดีไซน์ของเสื้อผ้า แต่การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างของเส้นใย เนื้อผ้า ลวดลายของผ้าไหมไทย เพื่อที่จะสร้างให้ผ้าไหมไม่มีข้อจำกัดในการใช้งานโดยโครงการนี้ได้นางออร์เนลล่า บิกนามิ ดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวอิตาลี และ นายดาร์เนียลอะลิเวอร์ติ วิศวกรการออกแบบนวัตกรรมสิ่งทอ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแบรนด์ดังระดับโลก ร่วมพัฒนาด้วยนางสุทธินีย์ กล่าวสรุป

โดยทั้ง 3 หน่วยงาน อันได้แก่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กรมหม่อนไหม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือ โครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” กิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย รวมถึงได้จัดกิจกรรม เสวนาพิเศษ “ไหมไทยยุคใหม่…ปรับอัตลักษณ์อย่างไร…สู่สากล” โดยมี นางอรทัย ศิลปนภาพร รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปิลันธน์ ธรรมมงคล นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่ง สิ่งทอไทยและผู้แทนจากบริษัทจุลไหมไทยร่วมเสวนา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องสุรศักดิ์บอลรูม โรงแรมอีสตินแกรนด์สาทร กรุงเทพฯ

สำหรับผู้ประกอบการท่านใดสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 408, 413-414

นางอรทัย ศิลปะนภาพร รองอธิบดี กรมหม่อนไหม

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ