สำหรับการนำร่องพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุเพื่อการเกษตรที่บ้านอ้อคำ ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมเนื้อที่รวม 572 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา สามารถช่วยให้เกษตรกรกว่า 290 ครัวเรือน ไม่ขาดแคลนแหล่งน้ำและสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลพุบ้านอ้อคำ และคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลพุ เพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำด้วยตนเอง รวมถึงมีการต่อยอดวางระบบกระจายน้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งผลสำเร็จของโครงการฯ สามารถยืนยันถึงประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุ ทั้งในแง่ของการแก้ปัญหาภัยแล้ง และการประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า บ่อน้ำบาดาลพุ เป็นบ่อน้ำบาดาลที่น้ำไหลออกมาเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำบาดาลพุเกิดจากสภาพอุทกธรณีวิทยาเฉพาะแห่งที่ทำให้ชั้นหินกักเก็บ น้ำบาดาลอยู่ภายใต้แรงดัน หรือเรียกว่าชั้นน้ำบาดาลภายใต้แรงดัน และสำรวจพบว่ามีกระจายอยู่ทั่วไป ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในลุ่มน้ำมูล ชี และโขง ประมาณ 1.7 ล้านไร่ ระดับความสูง ของน้ำที่พุขึ้นมา มีตั้งแต่ไหลล้นจากปากบ่อจนถึงระดับความสูงถึง 8 เมตร โดยทั่ว ๆ ไปมีปริมาณการไหลอยู่ระหว่าง 50 — 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ในพื้นที่บางแห่งที่มีรอยแตกขนาดใหญ่จะมีปริมาณการไหลมากกว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้น แหล่งน้ำบาดาลพุจึงเป็นแหล่งน้ำที่ควรจะพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรและแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะเผชิญเหตุ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่ให้ปริมาณน้ำมาก ไม่ต้องเสียพลังงานในการสูบน้ำ และสามารถต่อยอดในการวางระบบกระจายน้ำเพื่อทำการเกษตรได้
ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่นำร่องบ้านอ้อคำแล้ว พบว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่มีศักยภาพน้ำบาดาลพุ และสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เช่น บ้านสันเจริญ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บ้านพุเตย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี บ้านปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และบ้านหนองแวงน้อย อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น และล่าสุดยังพบที่อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการศึกษาโดยละเอียดต่อไป