ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) ประจำเดือนพฤษภาคม มีค่าเท่ากับ 45. 50 จุด จากเดือนเมษายนที่ระดับ 52.84 จุด ซึ่งสะท้อนมุมมองเชิงลบ หลังจากราคาทองคำปรับตัวลงแรงช่วงเดือนเมษายน แต่เป็นที่น่าสังเกตคือกลุ่มนักลงทุนกลับมีทัศนคติเชิงลบโดยมีค่าความเชื่อมั่นเฉพาะกลุ่มนักลงทุนอยุ่ที่ 43.54 จุด ขณะที่กลุ่มผู้ค้าที่มองว่าอาจจะฟื้นตัวได้ระยะสั้น โดยมีค่าดัชนีเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่ 57.52 จุด ซึ่งค่าเงินบาทยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ รวมถึงวิกฤตหนี้ยุโรป การเก็งกำไร และทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงสามเดือนข้างหน้า ทั้งกลุ่มผู้ลงทุนและกลุ่มผู้ค้าทองคำมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน โดยยังมั่นใจว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ระดับความเชื่อมั่นลดลงจากการสำรวจในช่วงเดือนเมษายนจากระดับ 65.06 จุดมาที่ระดับ 56.72 จุดในเดือนพฤษภาคม สะท้อนความไม่แน่ใจในการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในประเทศ ซึ่งเป็นการลดลง 2 เดือนติดต่อกัน ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ามีกระทบราคาทองคำในช่วงสามเดือนข้างหน้า คือการเก็งกำไรค่าเงินบาท และวิกฤตหนี้ยุโรป
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยการจัดทำบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) เดือนพฤษภาคมกลุ่มผู้ค้ามองราคาเคลื่อนไหวใกล้เคียงเดือนเมษายน โดยกรอบสูงสุดที่กลุ่มตัวอย่างคาดไว้ระหว่าง 1,480-1,560 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยส่วนใหญ่เชื่อสูงสุดอยู่บริเวณ 1,480-1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดให้น้ำหนักระหว่าง 1,300-1,440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.50) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดระหว่าง 20,500-21,900 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยให้น้ำหนักการตอบอยู่ระหว่าง 20,900-21,100 บาทต่อหนึ่งบาททองคำจำนวน กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 18,900-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
และจากภาวะตื่นทองหลังจากที่ทองคำอ่อนตัวช่วงหยุดยาว ศูนย์วิจัยทองคำได้ศึกษาพฤติกรรมการซื้อขายทองคำในช่วงวันที่ 17-30 เมษายน 2556 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ลงทุนในทองคำมีการซื้อทองคำในสัดส่วนร้อยละ 40.48 มีการขายทองคำร้อยละ 1.79 ทั้งซื้อและขายในช่วงเวลาดังกล่าวร้อยละ 16.07 และไม่ได้ทำการซื้อขายร้อยละ 41.67 โดยเป็นการซื้อทองคำรูปพรรณร้อยละ 43.90 ทองคำแท่งร้อยละ 44.71 กองทุนทองคำและสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในสัดส่วนร้อยละ 5.69 เท่ากันทั้งสองส่วน โดยมีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายทองคำ ซื้อเพื่อการลงทุน ร้อยละ 38.46 ซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับร้อยละ 25.38 ซื้อเพื่อเฉลี่ยต้นทุนร้อยละ 17.69 ที่เหลือร้อยละ 18.46 เป็นการซื้อเพื่อเป็นสินสอดแต่งงาน ขายเพื่อจำกัดการขาดทุน และซื้อเพื่อเป็นของกำนัล จากข้อมูลดังกว่าสะท้อนพฤติกรรมการซื้อขายทองที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการซื้อขายทองคำแท่งเป็นหลักกลับกลายเป็นการซื้อทองคำเพื่อการบริโภคมากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อขายทองคำพบว่า นักลงทุนให้น้ำหนักกับการตัดสินใจของตัวเองเป็นอันดับแรก ขณะที่สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อสำคัญประกอบการตัดสินใจ ส่วนความเห็นนักวิเคราะห์และกราฟทางเทคนิคให้ความสำคัญระดับปานกลาง ขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศจำนวนมากยังมองทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยในการลงทุน