อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษามีความสูง 6 ชั้น ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอาคารสำหรับการดำเนินงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2551 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 ซึ่งอาคารแห่งนี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2553 โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 57,100,000 บาท(ห้าสิบเจ็ดล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) บนพื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน ณ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2554 โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการจัดทำมาตรฐาน หลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติและระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา เผยแพร่ความรู้ ประเมินผลปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นศูนย์กลางประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนุญาตให้ใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)”
ในโอกาสนี้ทรงพระราชทานวโรกาสให้นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ประธานมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดหาผู้บริจาครายได้ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย พร้อมทั้งพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ จำนวน ๘๐ รายด้วย
พร้อมกันนี้ทรงเสด็จกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๔ พรรษาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทรงปลูกต้นชัยพฤกษ์ และทอดพระเนตรนิทรรศการแพทย์ฉุกเฉินเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษาและรถสื่อสารเฉพาะกิจพร้อมทั้งฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน คณะกรรมการมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะผู้บริหารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ