PwC คาดควบรวม “กลุ่มแบงก์” เอเชียแปซิฟิกปีนี้ฮอต แม้วิกฤตหนี้ยุโรปฉุดจำนวน-มูลค่าดีลทั่วโลก คาดสถาบันการเงินจากเอเชีย มีแนวโน้มเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น

พฤหัส ๑๖ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๔:๔๙
PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) คาดการณ์ถึงกระแสการควบรวมธุรกิจธนาคารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ ว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งสวนทางกับภาพรวมกิจกรรมการเทคโอเวอร์แบงก์ในยุโรป-สหรัฐที่ยังคงซบเซา พร้อมมองทุนยักษ์ใหญ่จากจีน ยังคงกว้านซื้อของดี-ราคาถูกจากยุโรปและทั่วโลก ขณะที่ผู้ประกอบการในอาเซียนจะมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ The Journal — Brave new world: New frontiers in banking M&A ว่า กระแสควบรวมกิจการธุรกิจธนาคารทั่วโลกจะยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอในปีนี้ หลังความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและวิกฤตหนี้ในแถบยูโรโซนทำให้มูลค่าและจำนวนดีลในอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

“ในทางตรงกันข้าม เอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเทรนด์ M&A ให้เกิดความคึกคักมากที่สุด (Most active region for banking M&A) ในปีนี้โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ดีมานต์ที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ทางการเงินการธนาคารของกลุ่มคนชั้นกลาง รวมทั้งฐานลูกค้า High-net-worth ที่เติบโต ในขณะเดียวกัน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงสามารถรักษาการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งได้รับผลกระทบทางลบในวงจำกัดจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในยุโรป ด้วยฐานทุนที่แข็งแกร่ง และมีแนวโน้มที่กิจกรรมควบรวมจะยังรักษาโมเมนตัมขาขึ้นไว้ต่อไป” นาย ศิระ กล่าว

ผลจากรายงานของ PwC พบว่า กิจกรรมควบรวมในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกมีการปรับตัวลดลงเร็วกว่าการควบรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมทุกประเภทโดยเฉลี่ย (All-sector M&A) ในปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าดีลแบงก์ทั่วโลก (Total value of completed banking deals) ปรับตัวลดลงร้อยละ 37 ในช่วง 10 เดือนของปี 2555 เปรียบเทียบกับ การปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 20 ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

“ความกังวลวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปจะยังคงมีผลกระทบต่อบรรยากาศการควบรวมของกลุ่มแบงก์ต่อไปในระยะข้างหน้า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปยังจะส่งผลต่อการทำดีลให้มีความซับซ้อนและยากต่อการคาดการณ์มากขึ้น ไม่ว่าเรื่องของการประเมินมูลค่า การจัดหาแหล่งเงินทุน การขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น หรือแม้กระทั่งความมั่นใจของการทำดีลโดยทั่วๆไป พูดง่ายๆว่า รูปแบบของการควบรวมธุรกิจแบงก์ทั่วโลกจะเปลี่ยนไปในระยะยาว การทำดีลจะไม่ได้มองแค่ Valuations และราคาอีกต่อไป”

บทวิเคราะห์ยังระบุว่า การเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐ และยุโรป มายังตลาดเกิดใหม่อย่างจีน และอินเดีย จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการควบรวมกลุ่มธนาคารโดยรวมในอนาคต โดย PwC คาดว่าใน ปี 2593 จีดีพีสะสมเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 7 ประเทศ (E7) ประกอบด้วย จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี จะอยู่ที่ 4.7% มากกว่าจีดีพีสะสมเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) ที่ราว 2.1%

“ดีลภายในภูมิภาค [เอเชียแปซิฟิก] จะยังเป็นตัวที่ Drive ให้เกิดกิจกรรมการควบรวมระหว่างกัน ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและฐานทุน สวนทางกับสัญญาณ Deal flow ที่อ่อนแอของอุตสาหกรรมทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันมาจากความกังวลวิกฤตหนี้ในยุโรป ซึ่งเรามองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มันเป็นมากกว่า วัฎจักรขาลง หรือ Cyclical downturn ทั่วๆไปแต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ตัวปัจจัยพื้นฐาน การเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจากตลาดที่ Mature แล้วมายังตลาดเกิดใหม่ โดยมีปัจจัยอื่นๆเป็นตัวเร่ง ได้แก่ การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมแบงก์ (Banking integration) การปฏิรูปกฏเกณฑ์ของภาครัฐ หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic shifts)” นาย ศิระ กล่าว

2556: คาดเศรษฐีเอเชียแปซิฟิกกว้านซื้อกิจการแบงก์ต่อเนื่อง

หากมองกิจกรรมการควบรวมในระดับอาเซียน นายศิระ กล่าวว่า ปี 2555 ถือได้ว่าเป็นปีที่น่าจดจำอีกปีหนึ่งของภาคเอกชนในภูมิภาค รวมทั้งไทย โดยในปีที่ผ่านมาบรรดาฐานทุนฝั่งเอเชีย ได้มองหาโอกาสการซื้อกิจการในต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันมากขึ้น โดยอาศัยจังหวะจากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่ฉุดให้ราคาสินทรัพย์มีความน่าสนใจ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้อาเซียนมีกิจกรรมการควบรวมที่คึกคักไม้แพ้ยักษ์ใหญ่อย่างจีน และ ญี่ปุ่น โดย Sector ภาคการเงินการธนาคาร ไฟแนนซ์ หลักทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการควบรวมที่มีความร้อนแรง ไม่แพ้ภาคพลังงาน อุตสาหกรรมเกษตร และค้าปลีก

ในส่วนของประเทศไทยเอง ดีลควบรวมที่สร้างความคึกคักให้กับกลุ่มแบงก์ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ธ.กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อันดับ 5 ของไทย โดยกลุ่มจีอีได้แจ้งการขายหุ้นของธนาคารในสัดส่วนราว 7.6% เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยเป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แบบเจาะจง นอกจากนี้ จีอีจะยังทบทวนทางเลือกสำหรับหุ้น BAY ที่ยังถืออยู่อีก 25% เนื่องจากบริษัทมีแผนขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป

“เรามองว่าในระยะต่อไป สถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้นเช่นกัน หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ และยุโรป ทำให้สถาบันการเงินจากฝั่งตะวันตก อาจต้องลดการทำธุรกิจในต่างประเทศลง แบงก์สหรัฐ แบงก์ยุโรป ที่เจ็บตัวจากวิกฤติปี 2008 เขาประสบความเสียหาย ต้องเพิ่มทุน และยังถูกบังคับด้วยเกณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งต้องปรับตัว และอาจต้องลดธุรกิจของเขาในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับสถาบันการเงินในเอเชียแปซิฟิก อย่าง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ให้ขยายการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น”

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นธุรกิจไทยขนาดใหญ่หลายรายตื่นตัวในเรื่องของการลงทุน ขยายกิจการไปในภูมิภาค โดยในระยะหลังก็เริ่มเห็นสัญญาณจากทางผู้ประกอบการ SMEs ตามมาด้วยเช่นกัน ในส่วนของแบงก์พาณิชย์เอง แบงก์ใหญ่ๆหลายรายที่มีสาขาอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว ก็เริ่มมีการขยายการลงทุน เปิดสาขาต่างประเทศมากขึ้น หรือบางรายที่ Support ลูกค้าภายในประเทศก็เริ่มมองหาโอกาสในการลงทุนออกไปนอกบ้านมากขึ้น” นายศิระ กล่าว

“ในส่วนแบงก์ขนาดกลางและขนาดย่อม ผมมองว่า Priority หลักอาจจะยังอยู่ที่การพยายามสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจภายในประเทศ เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่รุนแรง โดยในปีที่ผ่านมา เราจะได้ว่ามีการควบรวมหรือปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆเกิดขึ้นหลายดีล ฉะนั้น Step ต่อไปที่เรามอง คือ แบงก์เหล่านี้น่าจะเริ่มมองหาและขยับขยายกิจการไปในตลาดประเทศใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมและหาประโยชน์จากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 กันมากขึ้น” เขา กล่าว

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกฏกติกาหรือข้อบังคับต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ (Regulatory reform) ก็มีส่วนผลักดันให้แบงก์ต่างๆต้องมีการปรับโครงสร้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มฐานทุน หรือแม้กระทั่งการ Consolidate กันมากขึ้นอีกทางหนึ่ง นายศิระ กล่าวเสริม

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ในหลายๆ ประเทศในโลก รวมทั้งไทยเริ่มใช้เกณฑ์การคำนวณและดำรงเงินกองทุนที่ปรับปรุงใหม่ ที่เรียกว่า Basel III ซึ่งสำหรับในไทยนั้น ธปท.ได้บังคับใช้เกณฑ์ Basel III เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถต้านทานภาวะวิกฤตในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น พร้อมทั้งลดการส่งต่อความเสี่ยงจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

“สำหรับประเทศไทย การนำเกณฑ์ Basel III มาบังคับใช้ ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในระยะสั้น โดยเฉพาะจากข้อปฏิบัติที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งดูเหมือนเป็นความท้าทาย แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับธนาคารพาณิชย์และภาพรวมของระบบสถาบันการเงิน น่าจะช่วยจำกัดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว” นายศิระ กล่าว

ในท้ายที่สุด หากมองทิศทางการควบรวมธุรกิจแบงก์ในระดับโลก บทวิเคราะห์ระบุว่า ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐ เห็นสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น แต่บรรดาสถาบันการเงินยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการปรับโครงสร้าง (Restructuring) ต่อไป แบงก์สหรัฐที่มีสถานะทางการเงินที่ดีกว่า จะมองหาโอกาสในการขยายกิจการออกไปในต่างประเทศมากขึ้น โดยเอเชียแปซิฟิก และ ละตินอเมริกาจะเป็นแหล่งดึงดูดการเทคโอเวอร์ (Outbound M&A) ที่สำคัญ โดยมีการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและชนชั้นกลาง และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคเอกชนที่ทำให้ดีมานต์ของบริการต่างๆมีมากขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน

ในส่วนของประเทศในแถบยุโรป พิษเศรฐกิจจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการของกลุ่มแบงก์ใน 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นไปที่การประกอบกิจการในธุรกิจหลัก (Core businesses) มากกว่าธุรกิจรอง ในขณะเดียวกัน ฐานทุนที่แข็งแกร่งจากจีนจะแสดงความสนใจในการเข้าไปลงทุน ซื้อสินทรัพย์ด้อยราคา (Distressed assets) ที่เป็นเป้าหมายของการขายสินทรัพย์หรือเทคโอเวอร์ เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจหรือสร้างตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche presence) ของตนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นาย ศิระ กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๕ FTI รับ 2 รางวัล จากกระทรวงแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2567
๑๔:๕๕ OKMD ร่วมกับ CMDF จัดประกวดประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน หนุนไอเดียเด็กมัธยม ต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสังคม
๑๔:๓๐ แอลจีเผยเทรนด์ทำงานปี 2025 พร้อมเทคนิคใช้โน๊ตบุ๊กแบบสมาร์ทเวิร์กเกอร์
๑๔:๓๓ ทีเอ็มบีธนชาต สำรองธนบัตร 13,000 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
๑๔:๒๒ เจียไต๋แมน เมื่อรุ่นเดอะผนึกกำลังกับรุ่นใหม่ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
๑๔:๒๙ สุขภาพดีแบบไม่ต้องเดี๋ยว! รพ.วิมุต ชวนตรวจสุขภาพ - ปรับพฤติกรรมสไตล์คนไม่มีเวลาสร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาวรับปีใหม่
๑๔:๕๐ HBA ส่องภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 68 เผชิญความท้าทายใหม่ เร่งงัดกลยุทธ์ฝ่าแข่งขันสูง รุกเจาะตลาดใหม่ 'รอจังหวะฟื้น'
๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี