ผศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มะเร็งเต้านมประกอบด้วยระยะที่ 0 ถึงระยะที่ 4 โดยการแบ่งระยะขึ้นอยู่กับขนาดของมะเร็ง บริเวณที่ตรวจพบ และระดับการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มะเร็งเต้านมระยะที่ 0 ถึงระยะที่ 2 รวมเรียกว่ามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ส่วนมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ประกอบด้วย 1.มะเร็งเต้านมระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะที่3 คือ ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร หรือมะเร็งมีการลุกลามเกินกว่าขอบเขตเนื้อเยื่อเต้านมได้แก่ การลุกลามไปที่ผิวหนังของเต้านม หรือชั้นกล้ามเนื้อของทรวงอกหรือพบการอักเสบของเต้านม รวมถึงการแพร่กระจายจากเต้านมไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น ใต้รักแร้ บริเวณเหนือ หรือใต้กระดูกไหปลาร้า และ2.มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย หรือระยะที่4 คือ มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากเต้านม เช่น ที่ตับ ปอด กระดูก และสมอง ขณะที่เรามีข้อมูลสถิติของมะเร็งเต้านมโดยรวม แต่ข้อมูลของมะเร็งเต้านมระยะลุกลามยังมีอยู่จำกัด
ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะแรกจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมะเร็งเต้านมระยะลุกลามยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะรักษาผู้ป่วยโดยยับยั้งการลุกลามของโรคให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลามนั้น ส่วนใหญ่เป็นการให้ยาฉีดหรือยารับประทานที่จะไปทั่วร่างกาย ยาที่ใช้ก็มีหลายกลุ่ม ได้แก่ ยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด และยาในกลุ่ม Targeted Therapy หรือยามุ่งเป้า ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงที่เซลล์มะเร็ง การเลือกการรักษาที่เหมาะสมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างของผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยอยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้วหรือไม่ การตรวจพบตัวรับสัญญาณที่เซลล์มะเร็ง ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมน และตัวรับเฮอร์ทู
ทั้งนี้การศึกษาในประเทศไทย ที่มีรายงานผลการตรวจหาตัวรับฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกระยะ พบว่าประมาณ 58% ของผู้ป่วย ตรวจพบตัวรับฮอร์โมน หรือเรียกว่ามีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการตัดสินใจของผู้ป่วยเช่นกัน
การดื้อยาของเซลล์มะเร็งและความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม
นพ.คาร์ลอส บาร์ริออส PUCRS School of Medicine ประเทศบราซิล กล่าวว่า ถึงแม้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนยังคงเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกก็ยังมีผู้ป่วยประมาณ 50% ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาตั้งแต่แรก และ ณ เวลาหนึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่เคยตอบสนองต่อการรักษาจะเกิดการดื้อยา เนื่องจากเซลล์มะเร็งพยายามสร้างกลไกที่ปกป้องตัวเองให้มีชีวิตรอด เจริญเติบโต และแพร่กระจายทำให้ผู้ป่วยเกิดการกลับเป็นซ้ำ หรือมะเร็งเต้านมเกิดการลุกลาม ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม วัยหมดประจำเดือน ที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก และตัวรับเฮอร์ทูเป็นลบ หลังเกิดการดื้อต่อยาต้านฮอร์โมน
ดังนั้นการพัฒนาการรักษาใหม่ๆ จึงมีความจำเป็นมาก และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการพัฒนาการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ที่สามารถยับยั้งกลไกที่ทำให้เซลล์มะเร็งดื้อต่อยาต้านฮอร์โมน สำหรับผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก และตัวรับเฮอร์ทูเป็นลบโดยงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า การรักษาด้วยยากลุ่มใหม่นี้ร่วมกับยาต้านฮอร์โมนสามารถเพิ่มระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษาและมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคได้นานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเดี่ยวๆ ซึ่งการพัฒนาการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่นี้ถือเป็นความก้าวหน้าและเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์ (ปุ้ม)และ คุณสิริพร สิรินิจศรีวงศ์ (จิ๋ว) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8203