“บาทแข็ง” ป่วนต่อ!! ฉุดดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม เม.ย. ลดลงเป็นเดือนที่ 4 คาดผู้ประกอบการแห่นำเข้าวัตถุดิบจาก ตปท. หวั่นกระทบต่อซัพพลายเชนในประเทศทั้งระบบ

จันทร์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๐:๓๗
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2556จำนวน 1,074 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 26.6, 41.2 และ 32.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 45.9,12.8,14.5,14.3, และ12.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 85.1 และ 14.9 ตามลำดับ ผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 92.9 ลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนมีนาคม โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนเมษายน ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และเป็นการแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน ทำให้การรับคำสั่งซื้อในช่วงนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าแทนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำภายในประเทศ ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.1 ลดลงจากระดับ 99.3 ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ปรับลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กปรับเพิ่มขึ้น จากในเดือนมีนาคม

โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 85.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.9 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก และอุตสาหกรรมยา เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์

3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.4 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 93.3 ลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 98.3 ลดลงจากระดับ 105.3 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.9 อยู่ในระดับเดียวกับในเดือนมีนาคม

ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ปรับตัวลดลง

ภาคกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 96.3 ลดลงจากระดับ 97.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ยังเป็นประเด็นสำคัญของการปรับลดลงของค่าดัชนีในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศเห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ลดลงหลายเดือนติดต่อกัน สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคเหนือ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 85.5 ปรับเพิ่มขึ้น จากระดับ 83.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ของภาคเหนือปรับเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน แต่ยังมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี จากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงทั้งจากวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่มีค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.4 ลดลง

จากระดับ 95.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 79.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของค่าดัชนีในเดือนเมษายน ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้งที่ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร ทำให้การบริโภคชะลอตัวลง ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ทั้งจากวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต

ภาคตะวันออก พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 104.3 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 104.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ทำให้การรับคำสั่งซื้อในช่วงนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ

และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 90.7 ลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยความกังวลของผู้ประกอบการที่ส่งผลลบต่อระดับความเชื่อมั่น ได้แก่ ต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท เป็นอุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงการตกต่ำของราคาผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคที่ลดลงของประชาชนในพื้นที่ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.8 เพิ่มขึ้น จากระดับ 98.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับตัวลดลงทั้ง 2 กลุ่ม

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 94.1 ลดลงจาก 94.2 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.6 ลดลงจากระดับ 99.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายนอยู่ที่ 85.7 ลดลงจากระดับ 89.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.3 ลดลงจากระดับ 97.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเมษายนนี้ คือ ขอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีการแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะค่าเงินของประเทศคู่แข่งกับประเทศไทย จัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เข้ามาช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้