หากไม่มีการควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้ดำเนินการตามบทลงโทษตามกฎหมายได้ทันที
นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยถึงแนวทางการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงในขณะนี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งพร้อมเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังและเมื่อมีการตรวจพบลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลายถือเป็นเหตุรำคาญ
ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมได้ทันที ตั้งแต่ 1)ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออกลักษณะอาการ การควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรวมทั้งผลทางกฎหมายที่กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ 2)ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเจ้าพนักงานสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ3) หากพบว่าอาคารหรือสถานที่ของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้แจ้งหรือแนะนำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่นั้นปรับปรุงแก้ไขและ 4)หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งตามมาตรา28 ให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษโดยปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับได้ตามมาตรา 74
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่ากรณีที่ตรวจพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในที่หรือทางสาธารณะเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ทันทีหากทราบว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้นเกิดจากการกระทำของบุคคลใดให้ออกคำสั่งตามมาตรา27 ให้บุคคลนั้นปรับปรุงแก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนดถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ท้องถิ่นสั่งการให้ดำเนินการลงโทษตามบทบัญญัติมาตรา74 ข้างต้นได้เช่นกันแต่หากไม่ปรากฏว่าเกิดจากบุคคลใดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์นั้นได้โดยการถม
ระบายน้ำ ทิ้ง คว่ำ หรือใส่สารเคมีกำจัดลูกน้ำ แล้วแต่กรณีที่เหมาะสม
ส่วนกรณีที่เป็นอาคารรกร้างว่างเปล่าหรือก่อสร้างไม่เสร็จโดยไม่ปรากฎเจ้าของชัดเจนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งพันธุ์ยุงลายนั้นได้เพราะหากมีการเฝ้าระวังที่ดีจะป้องกันไข้เลือดออกไม่ให้แพร่ระบาดได้โดยอาจไม่ต้องใช้มาตรการกฎหมาย"วิธีการตรวจและเฝ้าระวังแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้นสามารถดำเนินการได้โดยประชาชนอาจให้ความร่วมมือในการตรวจดูภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังทั้งในหรือนอกอาคารว่ามีลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลายหรือไม่ซึ่งจากสถิติทั่วไปพบว่าลูกน้ำในภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังจะเป็นลูกน้ำยุงลายร้อยละ 95 ขึ้นไปหากพบว่ามีลูกน้ำหรือตัวโม่งให้ประชาชนเทน้ำทิ้งและเปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกๆ 7 วันก็จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือนและชุมชนได้
นอกจากนี้ การดำเนินการเมื่อเปิดภาคเรียนควรมีการคัดกรองหรือวัดไข้เด็กหากพบว่าเด็กนักเรียนมีไข้ร่วมกับไอหรือเจ็บคอให้สวมหน้ากากอนามัยแต่หากมีเพียงอาการไข้อย่างเดียว ให้สงสัยอาจเป็นไข้เลือดออกควรแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสูยุงและยุงกัดเด็กคนอื่นและให้นักเรียนแกนนำสุขภาพแจ้งการป่วยของเพื่อนนักเรียน ควรปลูกตะไคร้หอมเพื่อใช้สำหรับกันยุงในห้องเรียน
และขอความร่วมมือให้นักเรียนแกนนำสุขภาพรณรงค์ควบคุมลูกน้ำยุงลายเป็นประจำสัปดาห์ละ1 ครั้ง โดยเฉพาะสัปดาห์ที่มีฝนตก ควรกำจัดขยะและภาชนะเหลือใช้ที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน 7 วัน ที่สำคัญการนอนกลางวันของเด็กในศูนย์เด็กเล็กควรตรวจดูมุ้งลวดของอาคารศูนย์เด็กเล็กไม่ให้ชำรุดหากไม่ได้อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด ควรให้เด็กนอนในมุ้งและแนะนำผู้ปกครองให้ดูแลเด็กที่นอนกลางวันในบ้าน โดยให้นอนกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด