ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า “ผลการศึกษากระแสความเคลื่อนไหวการศึกษาของประเทศต่างๆ อาทิ แคนาดา อังกฤษ สกอตแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการวัดและประเมินผลผู้เรียนที่มุ่งเน้นผสมผสานและรักษาความสมดุลระหว่างการวัดเป้าหมายทางผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Summative Assessment) เข้ากับการพัฒนา “คน” คือนักเรียนเป็นรายบุคคล (Formative Assessment) ซึ่งมีผลให้ครูในศตวรรษที่ 21 ต้องสามารถผสมผสานกระบวนการวัดผลเข้ากับกระบวนการสอนได้อย่างแนบแน่น”
“สำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องมีการเตรียมครูและการพัฒนาโรงเรียนให้เท่าทันกับกระแสการวัดและประเมินในรูปแบบใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาครูให้เข้าใจเรื่องการวัดและประเมินผลแนวใหม่ และรู้จักที่จะใช้ผลจากการวัดและการประเมินกับการพัฒนาจัดการการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ยังมีส่วนกระตุ้นผู้เรียนให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของตน พร้อมผลักดันให้เด็กสามารถวางเป้าหมายการเรียนรู้ของตนได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายนั้นๆ ด้วย” ดร.จุฬากรณ์ กล่าวเสริม
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า “สิ่งท้าทายที่สุดของการศึกษาไทยคือ ทำอย่างไรให้การศึกษาเป็น “เสื้อสั่งตัด” ไม่ใช่ “เสื้อโหล” อย่างที่เป็นมา การเรียนรู้ การวัด และการประเมินผลทั้งหมด จึงต้องเป็นกระบวนการที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย เพียงพอที่จะรองรับความแตกต่างในความถนัด ความสนใจ หรือแม้แต่ปัญหาที่มีในเด็กแต่ละคน ซึ่งการศึกษาต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่มั่นคงมากขึ้นต่อไป นอกจากนี้ ปัจจุบันอุปสรรคสำคัญคือ ระบบการสอบระดับชาติ เช่น O-NET ที่ใช้ประกอบการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นตัวกดดันทั้งครูและเด็กทำให้การสอบในโรงเรียนมัธยมกลายเป็นการติวข้อสอบมากกว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่เด็กอย่างแท้จริง”