อาชีพการเลี้ยงสุกรช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรไทยทั่วประเทศมาช้านาน และในกระบวนการผลิตสุกรของไทยนั้นมีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถผลิตเนื้อสุกรที่มีคุณภาพสูงได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ แม้บางครั้งผลผลิตจะเกินความต้องการบ้างก็เป็นเพียงครั้งคราวตามกลไกตลาดเท่านั้น
“การผลิตเนื้อสุกรของไทยมีคุณภาพและเพียงพอต่อการบริโภคอยู่แล้ว หากรัฐบาลยอมตามที่สหรัฐเรียกร้องให้นำเข้าเนื้อสุกรย่อมก่อให้เกิดภาวะปริมาณเกินความต้องการ สิ่งที่จะตามมาคือราคาเนื้อสุกรจะตกต่ำอย่างมากจนเกษตรกรไทยอยู่ไม่ได้ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้เลี้ยงสุกรในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ซึ่งเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯที่มีราคาต่ำกว่าเนื้อสุกรภายในประเทศอย่างมาก ฉุดราคาสุกรหน้าฟาร์มในประเทศดังกล่าวเหลือเพียงไม่เกินกก.ละ 50 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรทั้ง 3 ประเทศ ไม่สามารถอยู่ได้ ต้องล้มละลาย ละทิ้งอาชีพและเลิกกิจการไป” นายสุรชัยกล่าว
สาเหตุที่เนื้อสุกรจากสหรัฐฯมีต้นทุนต่ำมาจากการอุดหนุน (subsidy) โดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่ำนี้ทำให้เนื้อสุกรสหรัฐสามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำกว่าราคาสุกรที่ผลิตในประเทศที่มีการส่งออกไป และจะทำการส่งออกชิ้นส่วนที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสหรัฐฯ เช่น หัว ขา และเครื่องใน ไปยังประเทศต่างๆ
อีกประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วง คือความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคชาวไทย เพราะเป็นที่ทราบดีว่ากฎหมายสหรัฐฯอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง Ractopamine และ Carbadox ในการเลี้ยงได้ ขณะที่กรมปศุสัตว์ของไทยจัดให้สารเคมีดังกล่าวเป็นสารต้องห้ามในฟาร์มสุกร ตามพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 นั่นหมายความว่าเนื้อสุกรทั้ง 100% ของสหรัฐฯจะมีสารดังกล่าวปนเปื้อนอยู่
นายสุรชัย กล่าวว่า หากมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกา มาขายปะปนกับเนื้อสุกรของไทยที่ปราศจากสารเร่งเนิ้อแดง ก็จะทำให้ผู้บริโภคชาวไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูง เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และก็เป็นไปได้ว่า ผู้บริโภคจะลดหรืองดบริโภคเนื้อสุกรไปเลย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยตรง และปิดประตูอุตสาหกรรมนี้ของประเทศไทยทันที
“ผมต้องชื่นชมรัสเซียที่กล้าปฏิเสธการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ทั้งๆที่เป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเนื้อสุกรสูงมาก โดยให้เหตุผลว่าขาดสุขอนามัยที่ดีและมีสารที่เป็นอันตรายเกินกว่าค่ากำหนดขั้นต่ำ (Minimum Residue Limit (MRL) เพราะรัสเซียตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศของเขา รวมถึงปกป้องเกษตรกรของรัสเซีย ซึ่งผมและผู้เลี้ยงสุกรทุกคนจำเป็นต้องขอร้องให้นายกรัฐมนตรีช่วยปกป้องอาชีพของคนไทยด้วยเช่นกัน” นายสุรชัยกล่าว