ผศ.ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา (SMC) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin)เปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ (สสปน.)เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ ( MICE ) ว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรซึ่งเป็นแบบเรียนทั้งภาษาไทยและอังกฤษ รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้นเพื่อใช้ในการอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่คณาจารย์เนื้อหาของวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ อุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปัจจุบันการบริหารจัดการงานไมซ์ และองค์ประกอบสำคัญอื่นๆโดยเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ลักษณะการจัดงานไมซ์แต่ละประเภท วิธีการบริหารจัดงาน การบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า รวมถึงจรรยาบรรณของการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรคำนึงถึงความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ดังนั้นคณะทำงานของ SMC ได้รวบรวมและศึกษาข้อมูลการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์เป็นมาตรฐานสากลนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียน เพื่อให้ผู้สนใจทำงานในอาชีพดังกล่าวมีความรู้และความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ได้จัดการสัมมนาเชิงปฎิบัติการร่วมกับคณะกรรมการโครงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้สามารถนำมาฎิบัติงานได้จริงมิใช่นำเสนอเนื้อหาในเชิงทฤษฎีเท่านั้น นอกจากนี้ SMC ยังได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนสำหรับหลักสูตรเร่งรัด (Short course)สำหรับการอบรมคณาจารย์ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดหลักสูตรนี้กับนักศึกษา (Coach the Coaches Program )
ผศ.ดร.ชัยพงษ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าในระยะแรกหลักสูตรดังกล่าวถูกบรรจุในสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล(วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยสยามขณะนี้หลักสูตรไมซ์เป็นวิชาหนึ่งในคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมของสถาบันการศึกษาต่างๆโดยสสปน.ได้ผลักดันให้บรรจุเป็นวิชาพื้นฐานบังคับสำหรับนักศึกษา รวมทั้งต้องการให้เป็นสาขาวิชาเอก (MICE Major)เพื่อพัฒนาความรู้ให้กับนักศึกษาในเชิงลึกเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์อย่างไรก็ตาม สสปน.ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันระดับอุดมศึกษาเพิ่มอีก 24 สถาบันทั่วประเทศเพื่อบรรจุหลักสูตรไมซ์เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
“หลักสูตรไมซ์ได้เริ่มดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา2555และสสปน.ได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ว่านี้เพื่อก่อให้เกิดความสนใจและความต้องการเรียนเพิ่มขึ้นแม้ว่าบุคลากรของไทยจะมีความสามารถและเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวยังขาดแคลนบุคลากรอีกจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้สนใจที่จะทำงานในอาชีพนี้ และยังรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต” ผศ.ดร.ชัยพงษ์กล่าว