ภายหลังจากกระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดการคุ้มครองแรงงานกรณีต่างๆ แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
คปก.ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการออกกฎกระทรวงกำหนดการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลกรณีต่าง ๆ แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประกอบกับการเชิญผู้แทนกระทรวงแรงงานมาชี้แจงและให้ข้อคิดเห็นแล้ว มีความเห็นว่า สาระสำคัญบางส่วนของร่างกฎกระทรวงฯ อาจขัดกับหลักการของพระราชบัญญัติดังกล่าว จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าในร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีบทบัญญัติที่แตกต่างในทางที่เป็นโทษ เช่น กรณีที่นายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 5 ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน ในขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 กำหนดเงินเพิ่มไว้ร้อยละ 15 เป็นต้น
นอกจากนี้ บทบัญญัติในร่างกฎกระทรวงฯ บางประเด็น เช่น การอนุญาตให้ใช้แรงงานเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีในกิจการประมงทะเล โดยบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นทำงานอยู่ในเรือประมงนั้นด้วย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 ค.ศ. 1973 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188ค.ศ. 2007 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงเนื่องจากงานประมงทะเลเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายและไม่เหมาะสม ที่จะใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ยังพบว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เป็นต้น และยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พระราชบัญญัติการเดินเรือนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่าจะต้องพิจารณาร่างกฎกระทรวงฉบับนี้อย่างรอบคอบ
นอกจากนี้กระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวง ยังไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากแรงงานในกิจการประมงทะเล รวมทั้งแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นแรงงานประมงทะเลส่วนใหญ่ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้ คปก.จึงเห็นควรให้มีการชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกไปก่อน
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔