บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2556

พฤหัส ๒๓ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๐:๔๔
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) แถลงผลการประชุมคณะกรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่า วันนี้ (20 พฤษภาคม 2556) ที่ประชุม กสท. มีมติในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 89 ราย แบ่งเป็นประเภทบริการธุรกิจ 61 ราย ประเภทกิจการบริการสาธารณะ 18 ราย และประเภทกิจการบริการชุมชน 10 ราย ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 1,756 ราย

2. ที่ประชุม กสท. มีมติอนุญาตความเหมาะสมของการประกอบกิจการบริการโทรทัศน์ หรือช่องรายการ ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวนทั้งหมด 38 ช่องรายการ โดยจะเป็นช่องรายการที่ออกอากาศทางเคเบิ้ลทีวี และดาวเทียม

3. ที่ประชุม กสท. มีมติอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายในกิจการโทรทัศน์จำนวน 4 ราย (4 ใบอนุญาต) โดยเป็นใบอนุญาตระดับภูมิภาคจำนวน 1 ราย ระดับท้องถิ่นอีก 3 ราย

4. ที่ประชุม กสท. ได้พิจารณาประเด็นความเห็นที่มีต่อ (ร่าง) ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เสนอมา ดังนี้

ประเด็นแรก การนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (คณะอนุกรรมการ DSO) เพื่อพิจารณาให้ความเห็น อาจส่งผลกระทบในประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เนื่องจากมีผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องหลักหลายช่องร่วมอยู่ในคณะ นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะอนุกรรมการ DSO ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 45 คน ได้แก่ กสท.ทั้ง 5 คน โดยมีประธาน กสท. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 8 กระทรวง จำนวน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา กสท. นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน (NGO) จำนวน 17 คน ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จำนวน 2 คน ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอนาล็อกทุกช่อง จำนวน 6 คน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 1 คน ฝ่ายเลขานุการจากกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน กสทช. จำนวน 6 คน โดยคณะอนุกรรมการ DSO มีหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ สำนักงาน กสทช. พิจารณาก่อนเสนอ กสท. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศใดๆ

และกระบวนการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมูลในกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ยกร่างโดยสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลทางอิเล็กทรอนิคส์จากกรมบัญชีกลางให้ความเห็นและคำปรึกษา รวมทั้งใช้แนวทางการยกร่างโดยอิงหลักการ Best Practice ของการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ มาปรับให้เหมาะสมกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนการนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ DSO ก็เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นในลักษณะ Focus Group ให้เกิดความรอบคอบก่อนนำเสนอต่อ กสท. มีมติรับรองก่อนนำไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป หลังจากการรับฟังความคิดเห็น สำนักงานเป็นคนนำ (ร่าง) มาพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำเสนอต่อ กสท. และ กสทช. พิจารณาตามลำดับ โดยไม่มีการนำเสนอร่างแก้ไขต่อคณะอนุกรรมการฯ ดังนั้นอนุกรรมการฯ จะมีโอกาสเห็นร่างกติกาที่ผ่านการรับรองจาก กสทช. พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ประเด็นที่ 2 การวางหลักประกันการประมูล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลโดยไม่ติดขัดในการต้องเร่งหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน ที่มีการเสนอให้เพิ่มเติมการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 (Bank Guarantee) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกัน นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 (คณะกรรมการ กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบ และอยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ซึ่งเป็น General Rule ของการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์

ทั้งนี้ การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย นั้น วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการทำผิดกฎกติกาการประมูล หรือ การสมยอมในการประมูล อันอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายในประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กสท. สามารถยึดหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่ กสท.จำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและต้องมีการเริ่มต้นกระบวนการประมูลใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันที ในขณะที่กรณีการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบยืนยันการค้ำประกันกับผู้ค้ำประกัน และเมื่อผู้เข้าร่วมการประมูลกระทำผิด สำนักงานฯ อาจจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกระบวนการเพื่อให้บังคับคดีให้มีการชำระเงินหลักประกันดังกล่าว

นอกจากนั้น จากการตรวจสอบ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มิได้มีการกำหนดวิธีการวางหลักประกันไว้ โดยให้แต่ละหน่วยงานกำหนดตามความเหมาะสมใน TOR และประกาศเชิญชวนของการประมูลแต่ละคราว และในกรณีการประมูล 3G ที่ผ่านมา ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ข้อ 9.4 ระบุให้วางหลักประกันการประมูลเป็นเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายสำนักงาน

ประเด็นที่ 3 ประเด็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือเลือกปฏิบัติในภายหลัง เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) เป็นรายเดียวกันสามารถส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลัง จึงมีการเสนอให้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยให้มีร่างหลักเกณฑ์การเลือกใช้โครงข่ายโทรทัศน์ของผู้ให้บริการช่องรายการ เพื่อเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า กติกาการประมูล เป็นวิธีการเพื่อที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจ ในขณะที่การออกใบอนุญาต Multiplexer Operator สำหรับให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เป็นไปตามประกาศ กสทช. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ ซึ่งมิได้มีการกำหนดห้ามการที่ผู้ประกอบกิจการโครงข่าย จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ด้วย

นอกจากนี้ เงื่อนไขใบอนุญาตโครงข่ายที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ พ.ศ. 2555 ก็ได้กำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายต้องให้บริการโครงข่ายฯ แก่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตรายอื่น กรณีที่โครงข่ายไม่สามารถรองรับได้ผู้รับใบอนุญาตต้องชี้แจงเหตุแห่งการปฏิเสธให้ กสท. พิจารณา นอกจากนั้น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า และจะต้องไม่กระทำการที่คณะกรรมการเห็นว่า มีวัตถุประสงค์ หรือมีผลกระทบ หรืออาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดอย่างมีนัยสำคัญสำหรับโครงข่าย สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการกิจการกระจานเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต และทั้งนี้ การเลือกใช้บริการโครงข่ายฯ ของผู้ชนะการประมูลเป็นไปตามกลไกการตลาด กติกาการประมูลเพียงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลต้องการใช้บริการจากผู้ให้บริการรายเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถให้บริการไม่เพียงพอเท่านั้น

ประเด็นที่ 4 ประเด็นหลักการประมูลของที่มีลักษณะทดแทนกันได้ โดยกำหนดให้มีการเรียงลำดับการประมูลแยกตามหมวดหมู่ประเภทช่องรายการนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับการประมูล โดยเสนอความเห็นว่า ลำดับที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประมูลนั้น ควรเรียงโดยอาศัยข้อมูลความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียงลำดับตามมูลค่า หรือราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประมูล ในที่นี้เมื่อไม่มีข้อมูลการประมาณการที่ชัดเจน จึงเสนอให้นำราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ เนื่องจากราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่กำหนดขึ้นจากการประเมินมูลค่าและความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรเห็นควรให้เรียงลำดับการประมูลจากราคาที่สูงสุดไปหาต่ำสุดคือเริ่มจาก Variety HD, Variety SD, ข่าวสารสาระ แล้วจบลงที่หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในส่วนของ (ร่าง) ประกาศฯ ยังไม่ได้กำหนดลำดับการประมูล เป็นเพียงกำหนดให้แยกการประมูลเป็นหมวดหมู่การให้บริการเท่านั้น ส่วนลำดับการประมูลก่อนหลัง ระบุให้มีการกำหนดอีกครั้งตามหนังสือเชิญชวนของ สำนักงานฯ

ประเด็นที่ 5 ประเด็นหลักการโดยทั่วไปการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันจะไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าควรจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่จะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่มีการเสนอให้ เพิ่มเติมเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มภายในห้านาทีนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย และป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อที่จะสร้างกระบวนการคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตที่สามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการหารายได้สูงสุดจากการประมูล การกำหนดเวลาจำกัดก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายศึกษารายละเอียด ตกลงใจถึงราคาสุดท้ายที่จะเสนอก่อนที่จะเข้าร่วมการประมูล เพื่อมิให้มีการเสนอราคาที่เกินจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งการให้บริการที่ด้อยคุณภาพในเชิงเนื้อหารายการ สำหรับการป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล ได้มีการป้องกันโดยการกำหนดให้มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่กำหนด และให้ผู้เข้าร่วมการประมูลเห็นราคาตนเอง สถานะความเป็นผู้ชนะและลำดับที่ชนะ ตลอดจนราคาของผู้ชนะรายสุดท้าย

ประเด็นที่ 6 ประเด็นที่เสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ โดยให้ดำเนินการได้ภายหลังจากผ่านพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่ที่ได้รับใบอนุญาต นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดงวดเงินที่มีระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลานานเกินไปอาจจะทำให้เกิดลักษณะที่คล้ายกับการอนุญาตสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีแนวคิดที่แตกต่างจากระบบใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งเท่ากับราคาสุดท้ายที่ชนะการประมูลนั้น เงินส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมจะนำไปจัดทำคูปองสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับสัญญาณในระบบดิจิตอล ซึ่ง (ร่าง) ประกาศฯ ได้กำหนดให้ระบบงวดการชำระเงินสอดคล้องกับระยะเวลาในการกระจายคูปองให้กับประชาชน

5. ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่เสียงแพร่ภาพรายการที่สำคัญ ซึ่งหลังจากนี้ จะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ในวันพุธที่จะถึงนี้ จากนั้นจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว คือรายการสำคัญ 7 รายการ ได้แก่ 1. รายการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2.รายการแข่งขันคอนเฟเดอเรชั่นคัพ 3.รายการแข่งขันเอเชี่ยนคัพนัดสุดท้าย และนัดที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน 4.รายการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 5.รายการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก 6.รายการวอลเล่ย์บอล ระดับชิงแชมป์โลก 7.รายการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ นัดที่มีตัวแทนจากชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน ผู้ประกอบกิจการที่ได้สิทธิในการแพร่ภาพรายการ จะต้องจัดทำข้อเสนอบริการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสามารถเลือกที่จะเข้าเจราเพื่อนำสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพของรายการดังกล่าวไปให้บริการประชาชนรับชมได้อย่างแพร่หลาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

(สำนักงาน กสทช.)

โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version