กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูงทั้งชนิดเส้นเดี่ยวและตีเกลียว ลวดขอบล้อยาง และลวดเชื่อมไฟฟ้า โดยบริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์”) ในปี 2534 และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2536 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 จนประสบปัญหาขาดทุนและไม่สามารถชำระหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ต่างๆ ได้ ทำให้บริษัทเข้าเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยในปี 2541 ตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท พร้อมทั้งย้ายหลักทรัพย์ของบริษัทไปอยู่ในหมวด “บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างแก้ไขการดำเนินงาน (REHABCO)” ทั้งนี้ ในปี 2543 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทโดยแต่งตั้ง ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการมาโดยตลอดจนครบถ้วน ทำให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกฟื้นฟูกิจการในเดือนมีนาคม 2547 และตลาดหลักทรัพย์ได้ปลดเครื่องหมายห้ามซื้อขาย และอนุญาตให้หลักทรัพย์ของบริษัทเริ่มทำการซื้อขายอีกครั้ง ในหมวดวัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่งตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 เป็นต้นไป
บริษัทได้หยุดการผลิตสินค้าทุกผลิตภัณฑ์ที่โรงงานบางปะกง ตั้งแต่กลางปี 2541 และได้เปลี่ยนเป็นดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยปัจจุบัน บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว 100 ล้านบาท ของบริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและบริษัทแกนของบริษัท บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2537 โดยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายลวดเหล็กแรงดึงสูงทั้งชนิดเส้นเดี่ยวและตีเกลียว ลวดขอบล้อยาง และลวดเชื่อมไฟฟ้า มีกำลังการผลิตรวม 42,000 ตันต่อปี มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ปัจจุบันบริษัทได้ย้ายสำนักงานใหญ่ และบริษัทย่อยได้ย้ายสำนักงานสาขา มาตั้งอยู่ที่อาคาร เอส วี โอ เอ ทาวเวอร์ ชั้น 18-19 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
ผลการดำเนินงานรวมในปี 2546 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 8.20 ล้านบาท มีผลกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลประกอบการประจำปี 2545 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 36.31 ล้านบาท ในปี 2546 รายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเป็น 579.30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.87 เมื่อเทียบกับรายได้ของปี 2545 ในขณะที่บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 573.21 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.14 เมื่อเทียบกับปี 2545 ทั้งนี้ ข้อมูลทางการเงินในงบดุลของบริษัทและบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 มีการจัดประเภทรายการบัญชีใหม่ ทำให้สินทรัพย์รวมของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2546 มีจำนวน 574.99 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 10.09 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2545 ที่มีสินทรัพย์จำนวน 585.08 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 490.10 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 18.3 ล้านบาทจากปี 2545 ซึ่งมีหนี้สินจำนวน 508.40 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานรวมในงวด 6 เดือนแรกของปี 2547 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเป็น 356.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.59 เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายของงวดเดียวกันในปี 2546 และมีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8,018 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2546 เนื่องจากในปี 2547 มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทย่อยประมาณ 74.30 ล้านบาท และกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการประมาณ 17.37 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 574.72 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 373.82 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 200.90 ล้านบาทจากทุนชำระแล้ว 279.37 ล้านบาท
ตามมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้จากหุ้นละ 10 บาท เป็นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท พร้อมทั้งอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 340 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียน 625 ล้านบาทโดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 57 ล้านหุ้นและได้มีมติจัดสรรหุ้นจำนวน 32 ล้านหุ้น จำหน่ายให้ประชาชน และจำนวน 25 ล้านหุ้นสำหรับรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้อนุมัติให้บริษัทออกใบสำคัญแสดงสิทธิจำนวน 25 ล้านหน่วย จัดสรรให้กับแก่ประชาชนที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ จำนวน 8 ล้านหน่วย ในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยไม่คิดมูลค่า และจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิส่วนที่เหลือจำนวน 17 ล้านหน่วย ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่มีชื่อในวันปิดสมุดทะเบียน ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริษัทและหรือคณะกรรมการบริหารเป็นผู้กำหนดต่อไป โดยจัดสรรให้ในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยไม่คิดมูลค่า
ภาพรวมการประกอบธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย
บริษัท และบริษัทย่อยคือ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด มีการประกอบธุรกิจลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดเส้นเดี่ยว (PC-wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป ลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียว (PC-Strand) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น คานสะพาน เสาเข็มขนาดใหญ่ ลวดขอบล้อยาง (Tyre Bead Wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ ลวดเชื่อมไฟฟ้า (Welding Wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ และลวดชุบสังกะสี (Galvanized Wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบสื่อสารโทรคมนาคม และไฟฟ้า เป็นหลัก (ปัจจุบันลวดชุบสังกะสีหยุดการผลิตตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา) และ บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) ได้หยุดการผลิตสินค้าทุกผลิตภัณฑ์ที่โรงงานบางปะกง ตั้งแต่กลางปี 2541 จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะผลิตภัณฑ์แต่ละสายผลิตภัณฑ์
ลักษณะผลิตภัณฑ์ที่บริษัท และบริษัทย่อย ผลิตและจำหน่ายมีดังนี้
(1) ลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดเส้นเดี่ยว (Prestressed Concrete Wire)
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 4, 5, 7 และ 9 มิลลิเมตร ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 95-2540 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป และไม้หมอนสำหรับรางรถไฟ เป็นต้น
(2) ลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียว (7- Wire Prestressed Concrete Strand)
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.3, 9.5, 12.4, 12.7 และ 15.2 มิลลิเมตร ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก. 20-2540 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างขนาดใหญ่ อาทิ คานสะพาน ทางยกระดับ เสาเข็มขนาดใหญ่ และไซโล เป็นต้น
(3) ลวดขอบล้อยาง (Tyre Bead Wire)
ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางอัดลม เพื่อช่วยขอบล้อยางให้กระชับกับขอบล้อให้แน่นขึ้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.7 ถึง 1.4 มิลลิเมตร
(4) ลวดเชื่อมไฟฟ้า (Welding Wire)
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 ถึง 1.6 มิลลิเมตร และใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ เช่น อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ต่อเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ท่อสูบน้ำ ถังแก๊ส รถไถนา หม้อแปลงไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ประเภทลูกค้า
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ คือ
1. กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป คานสะพาน ผู้ผลิตยางรถยนต์ และรถจักรยานยนต์
2. กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และประมูลงานกับหน่วยงานราชการ
3. หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
4. ผู้แทนจำหน่ายอุตสาหกรรมลวดเชื่อมโลหะต่าง ๆ
โดยบริษัทย่อยจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า และจำหน่ายให้กับ บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน)
วิธีการจัดจำหน่าย
บริษัทย่อยจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า และจำหน่ายให้กับ บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) ในแต่ละผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. ลวดเหล็กแรงดึงสูง
- จำหน่ายให้กับผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง และผู้รับเหมาในสัดส่วนร้อยละ 93
- ร่วมประมูลงานกับหน่วยงานรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจในสัดส่วนร้อยละ 7
2. ลวดขอบล้อยาง
- จำหน่ายตรงให้กับโรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์และโรงงานท่อในสัดส่วนร้อยละ 100
3. ลวดเชื่อมไฟฟ้า
- จำหน่ายตรงให้กับผู้จำหน่ายสินค้าในสัดส่วนร้อยละ 100
ลักษณะการตลาดของลูกค้าของแต่ละผลิตภัณฑ์
1. ลวดเหล็กแรงดึงสูง
ลูกค้าของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ภาคเอกชน จำหน่ายให้กับ ผู้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป คานสะพาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงทุกประเภท ในสัดส่วนร้อยละ 93 ของยอดขายรวม
- ภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยประมูลงานของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในสัดส่วนร้อยละ 7 ของยอดขายรวม
2. ลวดขอบล้อยาง
จำหน่ายตรงให้กับโรงงานผู้ผลิตยางทุกประเภทประมาณ 20 ราย ในสัดส่วนร้อยละ 96 และโรงงานผลิตท่อลมอ่อน (Air Duct) ในสัดส่วนร้อยละ 4
3. ลวดเชื่อมไฟฟ้า
จำหน่ายตรงให้กับผู้แทนจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์เชื่อมโลหะต่าง ๆ ในสัดส่วนร้อยละ 100 เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะทุกชนิด ดังนั้น จึงครอบคลุมในอุตสาหกรรมและผู้ใช้งานเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ และสาธารณูปโภคต่างๆ (4) ลวดชุบสังกะสี จำหน่ายให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่ใช้กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง และผู้ผลิตสายส่งสื่อสารโทรคมนาคม ในสัดส่วนร้อยละ 100 ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้หยุดการผลิตลวดชนิดนี้มาตั้งแต่กลางปี 2541 แล้ว
เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบัน บริษัทฯได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว คงเหลือแต่กรณีเจ้าหนี้ที่ยังมีปัญหาในการชำระหนี้เพียงรายเดียว ซึ่งผู้บริหารแผนได้วางไว้ต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อชำระหนี้ตามแผนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547
ส่วนบริษัทย่อยอยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทและบริษัทย่อย มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้น ดังนั้นบริษัทย่อยจึงมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจทั้งในการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักร และการขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้น บริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบในวันที่ 21 มิถุนายน 2544 และบริษัทย่อยได้ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ของบริษัทย่อย ในวันที่ 27 มีนาคม 2543 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทได้ยื่นขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกินการออกไป และบริษัทย่อยกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้บริษัทย่อยสามารถดำเนินกิจการต่อไป และสามารถปฏิบัติตามแผนได้อย่างต่อเนื่อง--จบ--
- ธ.ค. ๒๒๘๔ อนันดาฯ จับมือ แอร์เอเชีย ร่วมผ่านวิกฤตโควิด-19 ผ่านหลักสูตร “2nd Job 2nd Chance” เปิดโอกาสเรียนรู้อสังหาฯ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไป
- ธ.ค. ๑๒๖๙ อนันดาฯ เปิดตัวแนวคิดใหม่เพื่อการใช้ชีวิต “THE NEW ICONIC”
- ธ.ค. ๒๕๖๗ อนันดาฯ กระตุ้นตลาดอสังหาฯ เปิดตัวแนวคิดใหม่เพื่อการใช้ชีวิต “THE NEW ICONIC” พร้อมส่งมอบ 5 โครงการพร้อมอยู่ ครบทุกเซ็กเมนต์