บทความ: "ไม่เคยหมดยุคทองในอินเดีย" โดย จีทีเวลธ์ แมเนจเมนท์

จันทร์ ๒๗ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๖:๔๗
สวัสดีครับ กว่าหนึ่งเดือนแล้วนะครับหลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของตลาดทองไทย ที่ราคาปรับตัวลดลงวันเดียวกว่า 2,400 บาท ต่อทองคำแท่งน้ำหนักหนึ่งบาท แม้จะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างในช่วงปลายเดือนก่อนแต่ท้ายสุดก็กลับมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ ทำเอานักเล่นทองในประเทศหลายท่านเริ่มถอดใจเพราะคิดว่าจะเป็นขาลงสำหรับทองคำ ผสมโรงกับข่าวเชิงลบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตรการ QE การย้ายเงินเข้าตลาดหุ้น รวมไปถึงการขายทองของกองทุนขนาดใหญ่อย่าง SPDR ที่ผมเชื่อว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของพวกเราไม่รู้ว่ามันย่อมาจากอะไร แต่เอาเถอะครับโดยรวมก็อาจจะสรุปได้ว่าระยะนี้สำหรับนักลงทุนในประเทศนั้นทองคำอาจจะไม่ได้เจิดจรัสเหมือนแต่ก่อน แม้จะเป็นเช่นนั้นผมก็ยังเห็นการตื่นตัวของนักลงทุนทองรวมถึงความสนใจของสื่อที่ทำให้ทองคำยังอยู่ในกระแส ทำให้ทุกครั้งที่มีการปรับตัวขึ้นลงแรง ๆ ทองคำก็จะกลับมาเป็น talk of the town ได้ทุกครั้งไป เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความผูกพันและสนใจโลหะสีเหลืองนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย แต่ถ้านับชนชาติที่นิยมทองคำสูงสุดนั้นคงไม่มีชาติใดเกินอินเดีย ดังนั้นวันนี้ผมจึงขอกล่าวถึงดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนา เรื่องราวมหาภารตะ และผู้บริโภคทองคำหมายเลขหนึ่งอย่างอินเดียครับ

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากจีน (ประมาณ 1,240 ล้านคน) แม้จะเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยแต่ด้วยวัฒนธรรมที่มีความผูกพันกับทองคำทำให้อินเดียมีสัดส่วนในการบริโภคทองคำสูงที่สุดในโลก และการอ่อนตัวลงของราคาทองคำในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็เป็นการกระตุ้นการบริโภคทองคำในอินเดียได้เป็นอย่างดี โดยไตรมาสแรกของปีการบริโภคทองคำในภาคเครื่องประดับของอินเดียโตขึ้น 27% (year-on-year) ขณะที่จีนเติบโต 20% (year-on-year) สะท้อนแรงซื้อที่กลับมา ซึ่งจากการรายงาน “Gold Demand Trends — First quarter 2013” ของ World Gold Council กล่าวว่ามีการสะสมเข้ามาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นการซื้อเพื่อเตรียมก่อนช่วงเทศกาลแต่งงานในไตรมาส 2 ขณะที่การซื้อทองคำเพื่อการลงทุนในอินเดียโตขึ้นถึง 52% ในไตรมาสแรก จะเห็นได้ว่าความต้องการทองคำของอินเดียนั้นมีการเติบโตขึ้นตามการผกผันของราคาทองคำที่ต่ำลง นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการซื้อตามเทศกาลก็ถือว่ามีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของคนอินเดีย

เทศกาลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อทองคำที่น่าสนใจมีอยู่สองเทศกาลครับ เทศกาลแรกคือเทศกาลแต่งงานที่ชาวอินเดียนิยมให้สินสอดกันเป็นทองคำรูปพรรณ นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วยยอดการแต่งงานปีละหลายล้านคู่ทำให้ความต้องการทองคำมีจำนวนมาก อีกเทศกาลคือเทศกาลดีวาลี (Diwali) หรือเทศกาลแห่งแสงที่ชาวอินเดียนิยมซื้อของกำนัลให้แก่คนในครอบครัว ซึ่งมักจะเป็นอัญมณีและเครื่องประดับทำให้มีความต้องการทองคำเข้ามาในช่วงดังกล่าวเช่นกัน โดยเทศกาลดีวาลี (Diwali) จะมีในช่วงเดือนตุลาคม — พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งทั้งสองเทศกาลที่กล่าวมาก็มักจะมีการนำมาในการพูดถึงประกอบการวิเคราะห์ทิศทางราคาทองคำใกล้เคียงกับเทศกาลตรุษจีนนั่นเอง

แม้ว่าทุกวันนี้ทิศทางราคาทองคำไม่ได้ถูกกำหนดด้วย Demand — Supply ที่เกิดในตัว physical gold มากนักเนื่องจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายมากกว่ามาก แต่การเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของชาติที่มีการซื้อขายทองคำจำนวนมากก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมทองคำรวมถึงผู้ลงทุน

โดย กมลธัญ พรไพศาลวิจิต

ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ