แม้ว่าประเทศไทยจะมีสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่สามารถพัฒนาเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)แต่โครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของไทยได้ถูกละเลยการพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยมีคุณภาพต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง และมีต้นทุนด้านการคมนาคมขนส่งในอัตราสูงทำให้สูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้า และโอกาสทางเศรษฐกิจจากการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ และได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ประเทศไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศในการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กระจายสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่งทั้งคนและสินค้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำกรอบแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๖๓ โดยมีวงเงินลงทุนประมาณ ๒ ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการขนส่งภายในประเทศ การสร้างโอกาสใหม่ด้านการค้าและการลงทุนในการเชื่อมต่อระบบการขนส่งที่กำลังจะได้รับการพัฒนา จากแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการจ้างงาน ตลอดจนการกระจายความมั่งคั่งสู่ชุมชนทั่วประเทศ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแผนการลงทุนฯ โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดเส้นทางคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางระบบการขนส่งของภูมิภาคต่อไป
เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ จะได้รับทราบและมีความเข้าใจในแผนการลงทุนฯ ของรัฐบาลและใช้เวทีการสัมมนาฯ นี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ด้านการขนส่งทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนของประเทศไทย รวมทั้งได้ใช้โอกาสนี้ในการสอบถามในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนฯ ต่อไป
งานสัมมนานี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ กรรมการ และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายวรวุฒิ มาลา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และนายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย มาร่วมสัมมนา เรื่อง “ทิศทางการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยในอนาคต “
ต่อเนื่องด้วยสัมมนาเรื่อง การเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทย เพื่อการขยายตัวด้านขนส่งและโลจิสติกส์ โดย รศ.ดร. สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร. วันชัย รัตนวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายวิธพล เจาะจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
จบท้ายสัมมนาด้วยเรื่อง แผนการขยายตัวทางด้านโลจิสติกส์และคมนาคมของประเทศไทยในอนาคต โดย นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คุณเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน (ก.พ.) และ คุณนิชานันท์ ดุลสริ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้จากงานสัมมนาดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างเห็นถึงความสำคัญจำเป็นต้องเร่งมือเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ภายในหน่วยงานของตนเอง เพื่อรองรับโครงการขยายตัวด้านขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ และแผนการเพิ่มศักยภาพบุคลากรท่ามกลางการแข่งขันแย่งดึงบุคลากรระดับฝีมือข้ามประเทศในอนาคตรวมถึงนำทุกข้อคิดและการแสดงความคิดเห็นต่างๆเพื่อไปปรับปรุงพัฒนาให้โครงการที่จะเกิดขึ้นสอดคล้องกันทั้งโครงการของรัฐและโครงการภาคเอกชน เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยและประเทศชาติต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มติมได้ที่ โทร.02-254-8282—3หรือ [email protected]